ไม่มีรายการ

การวางแผนการเงินแบบครบทุกขั้นตอน เริ่มต้นยันเกษียณ

การวางแผนการเงินแบบครบทุกขั้นตอน เริ่มต้นยันเกษียณ

11 กรกฎาคม 2567


"ไม่มีเงิน" แล้วจะเอาที่ไหนมาวางแผนการเงิน ? ประโยคที่มักได้ยินเสมอ เมื่อพูดถึงเรื่องการวางแผนการเงิน

ไม่ผิดนะครับ ที่เราจะมีความรู้สึกว่า การวางแผนการเงิน เป็นเรื่องไกลตัว คนมีเงินเท่านั้นถึงจะทำได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แค่ตัวเงินอย่างเดียวครับ สิ่งที่การวางแผนการเงินให้มากกว่านั้น คือ ทำให้คุณรู้จักนิสัยการเงินตัวเอง ผมอยากให้ลองเปิดใจ แล้วมาเรียนรู้การวางแผนการเงินไปด้วยกันครับ

 

การวางแผนการเงิน คืออะไร

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการมองไปในอนาคต แล้วเห็นว่ามันกำลังจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตัวเราเองต้องการให้ชีวิตของเราเป็นไปในรูปแบบไหนในอนาคต แล้วตัวเรามีความสามารถทางการเงินในการรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตนั้นได้รึเปล่า?

ตั้งเป้าหมาย > บริหารจัดการเงินของตัวเราให้เป็นไปตามเป้า > บรรลุเป้าหมายทางการเงินในอนาคตที่เราต้องการ

 

ทำไมต้องวางแผนการเงิน

เพราะเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เพิ่งได้รับเงินค่าขนม พนักงานประจำที่ต้องบริหารเงินให้พอใช้จนถึงสิ้นเดือน หรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องดูแลเรื่องเงินในบริษัท ฉะนั้นมีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินติดตัวไว้ ยังไงให้ก็ดีกว่า

วันนี้ผมก็มีเคล็ดลับการวางแผนการเงิน ตามหลักพีระมิดการเงิน ที่ทำตามได้ง่ายและไปถึงเป้าหมายได้จริง โดยหลักการของพีระมิดการเงิน คือเราวางรากฐานให้มั่นเพื่อให้มีฐานที่แข็งแรง เหมือนกับการวิ่งไปข้างหน้าที่จะต้องมีขาที่มั่นคง ถ้าขาเราไม่แข็งแรงหรือเกิดอาการบาดเจ็บ อย่าว่าแต่การวิ่งเลย แค่เดินไปข้างหน้าเฉยๆยังลำบาก ฐานแต่ละชั้นจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

 

1.ฐานชั้นแรก : มีเงินกินพอใช้ ไม่เดือนชนเดือน

ฐานที่เราต้องทำให้มั่นคงที่สุด คือ เรื่องการควบคุมกระแสเงินสด พยายามทำให้รายรับ มากกว่ารายจ่ายให้ได้ ถ้ามีค่าใช้จ่ายเยอะ พยายามลดรายจ่ายให้ได้มากที่สุด และเพิ่มรายรับด้วยการหาอาชีพเสริม อาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบหรือสิ่งที่เราถนัด ลองหันมามองตัวเองว่าเราจะสร้างมูลค่าอะไรได้บ้าง

อย่างตัวผมเองก็มีเปิดเพจเกมเป็นอาชีพเสริม เพราะเป็นสิ่งที่ชอบด้วย เมื่อทำสิ่งที่รักแล้วได้เงินไปด้วยในเวลาเดียวกัน และคิดว่าจะค้าขายออนไลน์เพิ่มด้วยในเร็วๆนี้ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่มีเพดานรายได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงเช่นกัน

 

2️.ฐานชั้นสอง : สะสมเงินเก็บ

เมื่อกระแสเงินสดดี เป็นบวกทุกเดือน มีเงินเก็บมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เน้นสะสมเงินเก็บไปก่อน อย่าพึ่งนำเงินไปใช้จ่ายจนหมด ใครที่เก็บเงินไม่เก่ง ลองเคล็ดลับการตัดออมอัตโนมัติ อาจจะเริ่มต้นที่ 10% หรือ 20% ของรายได้ ใครไหวที่เท่าไหร่ก็เริ่มที่ตรงนั้น มันจะทำให้ไม่เห็นเงินส่วนที่ถูกตัดออมไป ทีนี้จะใช้เท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไรแล้ว เพราะเงินบางส่วนได้ถูกนำไปเก็บออมแล้ว

ถ้าเราสามารถเก็บออมเงินได้ 20% ของรายได้ ได้ทุกเดือนๆ แบบไม่ขาดตกบกพร่องเลย นั่นก็หมายความว่าเรามีฐานชั้นนี้ที่แข็งแรงแล้ว แต่ถ้าใครยังเก็บได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ลองหันมาเช็กดูว่าเงินบางเดือนที่หายไปนั้น หายไปกับอะไร เพื่อที่เราจะได้มีเงินเก็บทุกเดือน

ส่วนตัวผมเองก็ใช้วิธีตัดออมอัตโนมัติเช่นกัน มันง่ายแล้วก็ไม่ต้องมาคอยกังวลด้วยว่าเดือนนี้เราจะมีเงินเก็บไหม ใช้เงินได้อย่างสบายใจแถมยังมีเงินเก็บ

 

3️.ฐานชั้นที่สาม : ป้องกันชีวิตด้วยประกันและมีเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือน

เมื่อเรามีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือการป้องกันไม่ให้เงินที่เราหานั้นสูญหายไป หลายคนอาจจะบอกว่า “เงินฉันไม่หายหรอก เงินฉันอยู่ในตู้เซฟ อยู่ในธนาคาร มันจะเสี่ยงตรงไหน”

การป้องกันความเสี่ยงในที่นี้ ผมหมายถึงความเสี่ยงที่จะสูญเงิน ในการเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย ไม่สบาย เราจึงต้องทำประกันต่างๆ ทั้งประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าวันนึงเราเกิดอุบัติเหตุเจ็บหนักขึ้นมา แล้วไม่ได้ทำประกันเอาไว้ เงินทั้งหมดที่เราเก็บออมมาอาจจะไปหายวับไปกับตาเลยก็เป็นได้

การป้องกันความเสี่ยงอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน เช่น ถ้าผมมีรายจ่าย 10,000 บาทต่อเดือน ผมก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 60,000 บาทนั่นเอง เพื่อป้องกันหากเกิดปัญหาเวลาเราขาดรายได้ หรือขาดทุนมหาศาลจากการลงทุน เราจะได้มีเงินสำรองก้อนนี้ในการใช้ชีวิต

 

4️.ฐานชั้นที่สี่ : เริ่มลงทุนจากสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำไปยังความเสี่ยงสูง

มีทั้งเงินเก็บแล้วแถมยังมีประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงแล้ว ฐานพีระมิดของเราในตอนนี้ก็แข็งแรงและมั่นคงพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่เราจะสามารถเริ่มต้นลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของเงิน โดยสิ่งแรกที่ควรทำและต้องทำเลยก็คือ ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องที่จะลงทุน เพราะเงินไม่ได้ ได้มาฟรีๆ อย่างที่เคยบอกไว้ว่าเมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย ถ้าเราศึกษามาอย่างดี ทำความเข้าใจการลงทุนนั้นอย่างรอบคอบแล้ว ในระยะยาวยังไงก็ได้กำไร แต่ถ้าเราเข้ามาเพราะหวังกำไรระยะสั้น ไม่เน้นศึกษา เน้นจิ้มมั่วเหมือนเล่นพนันแล้วหล่ะก็ คำว่า “หมดตัว” น่าจะอยู่ไม่ไกล

สำหรับใครที่ยังเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ยังมีความรู้ไม่เยอะ สามารถลดความเสี่ยงได้จากการลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) หรือแปลเป็นไทยให้เข้าใจง่ายก็คือ “การลงทุนแบบทยอยลงทุนเป็นงวดๆ แบบสม่ำเสมอในจำนวนเงินที่เท่ากัน โดยที่เราไม่สนใจความผันผวนของมูลค่าระหว่างทาง”

เป็นการลงทุนในระยะยาว ที่โอกาสขาดทุนน้อย เพราะหากเรายิ่งลงทุนในระยะยาวโอกาสที่จะได้กำไรก็จะมากขึ้น

 

5️.ฐานชั้นบนสุด : มีความมั่งคั่งและส่งต่อมรดกไปยังลูกหลาน

เมื่อเดินทางมาถึงฐานชั้นบนสุดของพีระมิด นั่นก็อาจจะหมายความว่า เราใกล้จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ถึงแม้ตัวเราจะจากไป แต่ความมั่งคั่งที่สะสมมาทั้งหมดนั้นไม่สูญหายไป ตายไปเราอาจจะเอาเงินไปไม่ได้ แต่สามารถส่งต่อให้ลูกหลานและคนที่เรารักได้ และควรแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนเพื่อที่จะไม่มีปัญหาในภายหลัง

ถ้าเราสะสมทรัพย์สินมาเยอะ ลูกหลานของเราก็จะมีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาและการใช้ชีวิต

 

สรุปและให้คำแนะนำ

ㅤㅤถ้ามีความรู้ในด้านการเงิน ปูพื้นฐานมาอย่างดี ควบคุมกระแสเงินสดได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เป้าหมายที่จะมีอิสรภาพทางการเงินก็คงอยู่ไม่ไกล ทุกฐานทุกชั้น มีความสำคัญเหมือนกันหมด ถ้าขาดชั้นใดชั้นหนึ่งไป การเงินของเราอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้เสมอ เหมือนกับฐานของพีระมิดที่ก่อร่าง สร้างฐานมาอย่างดี พร้อมที่จะรับน้ำหนักของฐานชั้นต่อไปจนไปถึงยอดของพีระมิด

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ