ไม่มีรายการ

4 กองทุนเด่น ลงทุน Top 20 บริษัทระดับโลก

4 กองทุนเด่น ลงทุน Top 20 บริษัทระดับโลก

05 พฤศจิกายน 2564


รู้หรือไม่ครับว่าหลายบริษัทที่เป็น Top 20 บริษัทระดับโลกมีขนาดใหญ่กว่า GDP ไทยเสียอีก
และเราล้วนเป็นลูกค้าของบริษัทเหล่านี้

นอกจากเป็นลูกค้าแล้ว แล้วยังสามารถลงทุนบริษัทเหล่านี้ได้ด้วยนะครับ

ลงทุนได้ง่าย ๆ ผ่านกองทุนรวม

ซึ่งวันนี้ Lumpsum ได้คัด 4 กองทุนเด่น ที่ลงทุน Top 20 บริษัทระดับโลก

หรือเพื่อน ๆ คนไหนมีกองทุนเด็ดอยากบอกต่อก็ยินดีมากเลยนะครับ ทักมาพูดคุยกันได้ที่เพจ Lumpsum

 

20 บริษัท ล้วนเป็นบริษัทในประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ เป็นบริษัทจีน 2 บริษัท ที่เหลือเป็นบริษัทของซาอุดิอาระเบีย (บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฝรั่งเศสอย่างละ 1 บริษัท

20 บริษัท ที่มีมูลค่าสุงที่สุดในโลก

จะเห็นว่า 14 จาก 20 บริษัท ล้วนเป็นบริษัทในประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ เป็นบริษัทจีน 2 บริษัท ที่เหลือเป็นบริษัทของซาอุดีอาระเบีย (บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฝรั่งเศสอย่างละ 1 บริษัท

และถ้าสังเกตอีกนิดก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี

ดังนั้น หากอยากลงทุน 20 บริษัท ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เราจะสามารถลงทุนได้ผ่านกองทุนรวมหุ้น US และ Global Technology

ที่มา : EASY INVEST

 

เราสามารถหากองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใน 20 บริษัท ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นสัดส่วนหลัก ด้วย 2 ขั้นตอน ดังนี้

Step 1 คัดกองทุนจาก Morningstar Rating™ โดยเลือกกองทุนหุ้นสหรัฐฯ (US Equity) กับกองทุนหุ้นเทคโนโลยีโลก (Global Technology) ที่ได้ 4 ดาวขึ้นไป

- กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้ 4 ดาวขึ้นไปมี 5 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 64)

- กองทุนหุ้นเทคโนโลยี ที่ได้ 4 ดาวขึ้นไปมี 4 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 64)

Step 2 จากนั้นเข้าไปดูรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละกอง โดยเลือกกองทุนที่ Top 5 Holdings ลงทุนใน 20 บริษัท ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเป็นสัดส่วนหลัก

- กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่ Top 5 Holdings ลงทุนใน 20 บริษัท ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเป็นสัดส่วนหลัก มีอยู่ 3 กองทุน คือ K-USXNDQ-A (D) , KT-US-A และ TMBUSBLUECHIP

- กองทุนหุ้นเทคโนโลยี ที่ Top 5 Holdings ลงทุนใน 20 บริษัท ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเป็นสัดส่วนหลัก มีอยู่ 1 กองทุน คือ B-INNOTECH

 



ดูผลตอบแทนที่เคยทำได้ในอดีต

จะเห็นว่าทั้ง 4 กองทุนให้ผลตอบแทนดีมากในระดับมากกว่า 20% ต่อปี โดยเฉพาะ B-INNOTECH ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในบรรดาทั้ง 4 กองทุน

ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในหุ้นเทคโนโลยี ที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก และนั่นทำให้กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ได้อานิสงส์ไปด้วย เพราะหุ้นบลูชิพหลายบริษัทล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้การันตีผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนะครับ จึงเป็นหน้าที่ของเราว่ามีมุมมองอย่างไรต่อกองทุนเหล่านี้ ต้องประเมินหรือวิเคราะห์ว่าเทรนด์หุ้นสหรัฐฯ และหุ้นเทคโนโลยี จะยังไปต่อได้อีกไกลหรือไม่?

 

ดูความเสี่ยงของกองทุนรวม เป็นส่วนหนึ่งที่พิจารณาว่ากองทุนนี้เหมาะกับเราหรือไม่

ดูความเสี่ยงของกองทุนรวม เป็นส่วนหนึ่งที่พิจารณาว่ากองทุนนี้เหมาะกับเราหรือไม่

ความเสี่ยงในการลงทุน คือโอกาสที่เราจะขาดทุนเงินต้น ไม่ใช่โอกาสที่จะได้กำไรน้อยกว่าคาด

ความเสี่ยงของกองทุนรวมจะถูกประเมินและระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ระดับความเสี่ยงโดยรวมของกองทุนจะแสดงไว้ในรูปของ Risk Spectrum จากระดับ 1 ถึง 8 โดยความเสี่ยงระดับ 1 มีโอกาสขาดทุนเงินต้นต่ำสุด ส่วนความเสี่ยงระดับ 8 มีโอกาสขาดทุนเงินต้นสูงสุด

จากตารางจะเห็นว่า B-INNOTECH มีความเสี่ยงระดับ 7 สูงที่สุดใน 4 กองทุนเหล่านี้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในหุ้นเทคโนโลยี ส่วนอีก 3 กองทุนหุ้นสหรัฐฯ มีความเสี่ยงระดับ 6 ซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับโดยทั่วไปของกองทุนตราสารทุน หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ กองทุนรวมหุ้นนั่นเอง

หลังจากดูความเสี่ยงโดยรวมของกองทุน ซึ่งเป็นความเสี่ยงเบื้องต้นในภาพรวมไปแล้ว ควรจะดูความเสี่ยงเจาะลึกมากขึ้น ด้วยมาตรวัดความเสี่ยง 3 แบบ คือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ชาร์ป เรโช (Sharpe Ratio) และเจนเซ่น อัลฟ่า (Jensen’ s Alpha)

- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เป็นค่าสถิติที่บอกถึง “ความน่าจะเป็น (Probability)” ของผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงจากการลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ผิดไปจาก “ผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Return)” ถ้าค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่า “สูง” แสดงว่ากองทุนนั้นมีความเสี่ยงสูงเพราะอัตราผลตอบแทนมีการกระจายตัวไกลจากอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังไปมาก โอกาสที่จะเบี่ยงเบนไปจึงมากด้วยเช่นเดียวกัน แต่ถ้าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่า “ต่ำ” แสดงว่ากองทุนนั้นมีความเสี่ยงต่ำ

- ชาร์ปเรโช (SharpeRatio) เป็นการวัดผลตอบแทนของกองทุนรวมที่มากกว่าหรือเหนือกว่าอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงปรับด้วยค่าความเสี่ยงของกองทุนรวม คือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นการมอง “ผลตอบแทน” ต่อ 1 หน่วยความเสี่ยงที่เท่ากัน หรือพูดได้อีกอย่างคือ การที่กองทุนมีค่า Sharpe Ratio ที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับอีกกองทุนหนึ่ง แสดงว่าผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า ณ 1 หน่วยความเสี่ยงที่เท่ากัน แต่ก็ควรใช้เปรียบเทียบกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน ตัวอย่าง กองทุน A, B และดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีค่า Sharpe Ratio เท่ากับ 1.12, 0.95 และ 0.85 ตามลำดับ หมายความว่า กองทุน A เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุน B และดัชนี ตลาดหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง 1 หน่วย

- เจนเซ่น อัลฟ่า (Jensen’ s Alpha) เป็นการเปรียบเทียบผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมกับอัตราผลตอบแทนที่ต้องการปรับด้วยค่าความเสี่ยง กล่าวคือ ค่าอัลฟ่าเป็นค่าที่บอกว่า ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนนั้นทำได้ดีหรือมากกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต้องการตามทฤษฎีหรือให้ผลตอบแทนมากกว่า ของผลตอบแทนของตลาดอยู่กี่ % เช่น ค่าอัลฟ่า 4% หมายความว่า กองทุนที่เราลงทุนอยู่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนตามตลาดอยู่ 4%

ดังนั้น ถ้าเราลงทุนในกองทุนที่ให้ค่า อัลฟ่ามากๆ ก็จะมีแนวโน้มที่ดีกว่า และเป็นตัวบ่งบอกด้วยว่ากองทุนนั้นมีการบริหารจัดการได้ดีจนทำให้มีค่าอัลฟ่าสูง นั่นคือ ค่าอัลฟ่าของกองทุนรวมยิ่งสูงแสดงว่าผลตอบแทนของกองทุนรวมสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่ต้องการ ณ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ 1 หน่วย ข้อดีของวิธีนี้เหมาะกับการวัดฝีมือผู้จัดการกองทุนโดยตรง เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบว่ากองทุนทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหรือไม่นั่นเอง

จากตารางจะเห็นว่า กลับเป็น B-INNOTECH ที่ความเสี่ยงจากการวัดด้วยมาตรวัด 3 แบบ ภาพรวมดูดีที่สุด ทั้ง ๆ ที่ระดับความเสี่ยงโดยรวมมีค่าเท่ากับ 7 มากกว่าอีก 3 กองทุนที่เหลือที่ระดับความเสี่ยงโดยรวมมีค่าเท่ากับ 6 แต่ถ้าเปรียบเทียบกันเฉพาะกองทุนหุ้นสหรัฐฯ 3 กองทุน โดยภาพรวม K-USXNDQ-A (D) จะดูดีกว่าอีก 2 กองทุนที่เหลือเล็กน้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม:  www.krungsriasset.com

 

Total Expense Ratio คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนรวม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเป็นภาระทางอ้อมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องแบกรับ เช่น

- ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ บลจ. เรียกเก็บจากการบริหารเงินลงทุนของกองทุนให้ผู้ถือหน่วย (เป็นค่าธรรมเนียมหลักในส่วนของค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม)

- ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเรียกเก็บจากกองทุนรวม

นอกจากนี้ ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีก เช่น ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่านายทะเบียนหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน เป็นต้น

การที่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของแต่ละกองทุนรวมแตกต่างกัน เกิดจากการที่แต่ละกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้น มีค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) สูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากการบริหารกองทุนมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการบริหารกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น

ส่วนค่าธรรมเนียมการซื้อ และค่าธรรมเนียมการขาย เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง ที่เกิดจากการส่งคำสั่งเพื่อทำรายการต่าง ๆ ซึ่งหากกองทุนใดเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อจากนักลงทุน ค่าธรรมเนียมส่วนนี้มักจะถูกหักทันทีออกจากเงินต้นที่ซื้อกองทุนนั้น ๆ ซึ่งค่าธรรมเนียมการซื้อนี่แหละ เป็นต้นเหตุว่าทำไมซื้อกองทุนแล้วขาดทุนทันที

จากตารางจะเห็น K-USXNDQ-A (D) ดูน่าสนใจที่สุดใน 4 กองทุนนี้ เพราะเก็บค่าธรรมเนียมต่ำสุด แถมไม่เก็บค่าธรรมเนียมการซื้อ จึงเหมาะกับการซื้อสะสมเพื่อลงทุนในระยะยาว

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.set.or.th

 



ถ้าอยากลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ระดับ Top 20 ของบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก กองทุนรวมเป็นหนึ่งในช่องทางที่ง่าย ทุกคนสามารถลงทุนได้ทั้งมือใหม่และมือเก๋า

เราสามารถคัดเลือกกองทุนได้จากการดูภาพรวมของ 20 บริษัท ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคโนโลยี ฉะนั้น กองทุนหุ้นสหรัฐฯ กับกองทุนหุ้นเทคโนโลยีจึงเป็นคำตอบเบื้องต้น

หลังจากนั้นคัดต่อจากกองทุนที่ได้ 4 ดาวจาก Morningstar Rating™ ขึ้นไป แล้วเข้าไปดูรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละกอง โดยเลือกกองทุนที่ Top 5 Holdings ลงทุนใน 20 บริษัท ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเป็นสัดส่วนหลัก

ต่อไปดูผลตอบแทนในอดีต ความเสี่ยง และค่าธรรมเนียม วิเคราะห์หากองทุนที่เราจะลงทุน เมื่อเลือกได้แล้ว ต้องจัดพอร์ตตามหลัก Core-Satellite Portfolio

ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามลิงก์นี้ได้เลย https://www.facebook.com/lumpsumofficial/posts/950662238997550

 

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ