ไม่มีรายการ

เช็กด่วน 5 สาเหตุที่ทำให้ รีไฟแนนซ์บ้านไม่ผ่าน

เช็กด่วน 5 สาเหตุที่ทำให้ รีไฟแนนซ์บ้านไม่ผ่าน

30 มิถุนายน 2566


เราสนับสนุนและแนะนำรวมถึงแชร์แนวทางการ "รีไฟแนนซ์บ้าน" ไปหลายตอน ซึ่งกลุ่มที่ดำเนินธุรกรรมสำเร็จแล้วก็ตามนั้นและยินดีด้วย ... แต่ที่เรายังไม่ได้แชร์คือกลุ่มที่ขอ "รีไฟแนนซ์บ้าน" ไม่ผ่าน!!!


จึงอยากแนะนำข้อควรรู้และข้อสังเกตกรณีขอสินเชื่อ "รีไฟแนนซ์บ้าน" แล้วถูกปฏิเสธ มีปัจจัยอะไรบ้างและควรแก้ไขอย่างไร ดังนี้


1.มีประวัติผิดนัดชำระหรือเคยปรับโครงสร้างหนี้ : ถือเป็นปัญหาหลักและปัญหาใหญ่ เพราะประวัติเหล่านี้จะอยู่ในเครดิตบูโรของผู้ขอกู้ เมื่อธนาคารตรวจสอบและพบรายการเหล่านี้มักจะไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนั้นควรตรวจสอบเครดิตบูโรก่อนยื่นขอ "รีไฟแนนซ์บ้าน" ทุกครั้ง จะได้เตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม


ทางแก้ก็คือ ยื่นกู้หลาย ๆ สถาบันการเงิน (Lumpsum อำนวยความสะดวกเรื่องนี้ได้ ตั้งแต่เปรียบเทียบโปรโมชันยันยื่นเรื่อง คลิกเลย ) เพราะบางสถาบันการเงินอาจจะไม่ซีเรียสเรื่องนี้มากนัก (แต่ต้องเป็นประวัติค้างชำระหรือปรับโครงสร้างที่จัดการเรียบร้อยแล้วนะ ถ้ายังค้างแต่ก็ยังไม่จ่าย โอกาสแทบจะเป็นศูนย์) เพราะข้อมูลในเครดิตบูโรจะค้างอยู่ 36 เดือน ซึ่งหากเราจัดการจบไปแล้ว แม้มีประวัติ บางแบงก์ก็จะถือว่าผ่านไปแล้ว ก็จะมีโอกาสในการขอสินเชื่อได้


2.สำรวจหนี้สิน : สถาบันการเงินมักไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ที่มีภาระหนี้สิน (ณ วันขอกู้) เกิน 40% ไม่ว่าจะหนี้บัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล, เช่าซื้อรถ และ อื่น ๆ เพราะจะถือว่ามีภาระสูง มีความเสี่ยงขาดสภาพคล่องได้ในอนาคต


ดังนั้นต้องตรวจสอบหนี้สินก่อนยื่นกู้ทุกครั้ง หากรวมกันแล้วเกิน 40% ต้องหาทางในการลดภาระเหล่านั้น ให้ต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่สถาบันการเงินต้องการ


3.อายุ : กรณีนี้มี 2 ประเด็น คือ "อายุของผู้กู้" ต้องไม่มากเกินไป แม้เงื่อนไขจะให้กู้ตั้งแต่อายุ 20 - 65 ปี แต่หากขอ "รีไฟแนนซ์" ตอนอายุ 50++ และขอผ่อนยาว เกิน 10 ปี โอกาสผ่านจะต่ำ เพราะอายุมากมีความเสี่ยงหลายประการ ทั้งเรื่องสุขภาพหรือศักยภาพในการทำงานหารายได้ช่วงที่เหลือ เป็นต้น ดังนั้นหากอายุเริ่มมากแล้ว ควรหาผู้กู้ร่วมที่อายุยังน้อยไปผสมด้วย เพราะสถาบันการเงินจะยึดผู้กู้ร่วมที่อายุน้อยกว่าเป็นหลัก


อีกประเด็นคือ "อายุงาน" เมื่อพิจารณาเงื่อนไข ต้องทำงานมากกว่า 1-2 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะพนักงานประจำหรือเจ้าของกิจการ ซึ่งหากอายุงานต่ำกว่านั้นโอกาสถูกปฏิเสธสินเชื่อสูง สำหรับท่านที่ย้ายงานหรือเปลี่ยนธุรกิจ ควรมีเอกสารรับรองการทำงานหรืออายุงานที่เก่ารวมไปด้วย ส่วนคนที่เป็นพนักงานใหม่จริง ๆ ควรรอให้ผ่านเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนดก่อนยื่นขอสินเชื่อ


4.เคยค้ำประกัน : เรื่องนี้จะไม่กระทบเลย หากผู้ที่เราไปค้ำประกันจ่ายสินเชื่อตรงตามกำหนด แต่มีปัญหาแน่หากมีประวัติการเบี้ยว แม้เราจะไม่ทราบเรื่อง แต่ประวัติเหล่านี้สถาบันการเงินสามารถหาข้อมูลได้ ดังนั้นต้องเช็กให้ดี ถ้าคนที่เราไปค้ำประกันเขามีปัญหา ต้องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการขอถอนการค้ำประกัน (ตามกฎหมายยังไม่ให้สิทธิถอนค้ำประกัน แต่เท่าที่หาข้อมูลมาสามารถเจรจาได้ ซึ่งต้องไปติดต่อจนถึงที่สุด เพื่อหาทางออกร่วมกัน)


5.ความน่าน่าเชื่อถือของงาน : งานคือแหล่งที่มาของรายได้ ดังนั้นหากเป็นพนักงานบริษัทที่ไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง, ไม่จ่ายภาษี หรือไม่ส่งประกันสังคม อาจจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในแง่การเป็นแหล่งสร้างรายได้ระยะยาวให้กับผู้กู้ แม้จะให้เงินเดือนสูงก็ตาม ซึ่งต้องตรวจสอบให้ละเอียด และหาผู้รับรองเพิ่มเติม


ประเภทสลิปเงินเดือนก็สำคัญนะ โดยหากเป็นสลิปคาร์บอน ความน่าเชื่อถือจะสูงมาก ธนาคารให้การยอมรับ เพราะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของคุณ ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง เงินเดือน รายได้ รายได้พิเศษ ชื่อบริษัท และข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของรายได้จากการทำงาน ส่วนท่านที่มีสลิปเงินเดือนแบบอื่น ต้องออกหนังสือรับรองการทำงานกำกับด้วย


หากคุณยื่นขอสินเชื่อ "รีไฟแนนซ์บ้าน" ไม่ผ่าน แล้วพบ 1 ในปัจจัยข้างต้น ลองไปแก้ไขตามวิธีที่ได้แชร์ไว้ได้เลย ส่วนหากไม่มีปัจจัยดังกล่าว แต่ก็ยังกู้ไม่ผ่าน คงต้องไปถามสถาบันการเงินที่ไปขอแล้วล่ะว่า ทำไม ทำไม ทำไม!!!!


แต่แนะนำว่า อย่ายื่นขอ "รีไฟแนนซ์บ้าน" กับสถาบันการเงินเดียว ไม่ผ่านแล้วก็เลิกล้มความตั้งใจ เพราะแต่ละแห่งเงื่อนไขและความเขี้ยวต่างกัน ลองยื่นหลาย ๆ แห่งจะสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จได้มากกว่า Lumpsum ช่วยได้นะ คลิก 

 

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ