ความเจ็บปวดอย่างหนึ่งของมนุษย์เงินเดือน ที่ใครหลายคนเคยน่าจะเคยเผชิญคือ นอกจากหนี้ที่ตามหลอกหลอนทุกสิ้นเดือนแล้ว อนาคตยังดูอึมครึมอีก เพราะเงินออมไม่มีเลย หรือมีก็แค่พอประทังชีวิตได้ไม่กี่เดือนในกรณีตกงานแบบไม่คาดคิด ซึ่งหากจะพูดถึงตอนแก่นั้น...ลืมไปก่อน
และที่น่าเสียดายเข้าไปอีก เมื่อเงินออมที่เคยสะสมไว้กับบริษัทอย่าง "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" หรือ PVD ถูกนำออกมาใช้ก่อนเวลาอันควร ด้วยการตัดสินใจลาออกจาก PVDเพราะร้อนเงิน จากเหตุจำที่เป็นมากน้อยต่างกันไป
ที่เขียนเรื่องนี้เพราะเชื่อว่า อาจมีบางคนที่กำลังคิดอยากจะลาออกจากกองทุน เพราะจะกู้เงินก็ดอกเบี้ยแพง จะยืมญาติก็เกรงใจ เอานี่ล่ะวะ (บ่นกับตัวเองในใจ) ลาออกจากสมาชิกกองทุนเอาเงินก้อนมา ใช้...ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าไม่เคย ดิฉันเองในอดีตก็เคยลาออกจากกองทุนมาแล้วเหมือนกัน
(สารภาพว่าตอนนั้นออกเพราะเป็นวัยรุ่น "หัวร้อน" เห็นผลขาดทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว อยากจะบริหารเอง เลยออกดีกว่า ง่อวววว...สรุปต้องคลานมาเข้า PVD ใหม่ เพราะไอ้เงินก้อนที่ได้มาลงทุนหุ้นแบบมั่วๆ แล้วเจ๊ง!)
หากเราใจเย็นสักนิดและวิเคราะห์ข้อดีของมันสักหน่อย อาจจะทำให้เรายังคงกัดฟันคงสถานะของสมาชิกต่อไป (แล้วไปหาเงินร้อนจากแหล่งอื่นแทน) และทำให้มีขุมทรัพย์ก้อนโตไว้ใช้ในวันที่เราลาออกจากบริษัท หรือเมื่อวัยเกษียณมาถึง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เหตุผลที่คุณควรออมเงินใน "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

ดิฉันอยากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ของโครงสร้าง PVD..บริษัทที่เราอยู่ก็เหมือนกับพ่อแม่ที่อยากให้ลูก (จ้าง) ออมเงิน จึงบอกลูกว่าหลังจ่ายเงินเดือนแล้ว ถ้าลูกๆ สะสมเงินเท่าไหร่พ่อกับแม่จะช่วยเติมเงินให้เท่านั้น เหมือนจ้างลูกให้ออมเงินว่างั้นเถอะ
ลูก (จ้าง) คนไหน เห็นโอกาสก็สะสมเต็มที่ 15% ของเงินเดือน ในขณะที่หลายคนอาจคิดว่า หักไปทำตั้งหลาย % หรือหักเงินฉันน้อยๆ ก็พอ จะได้เหลือเงินใช้รายเดือนมากขึ้น (เผลอๆ บางคนไม่แน่ใจ จำไม่ได้ ไม่รู้ ว่าตัวเองสะสมกี่ %)
มันไม่ใช่แค่บริษัท "เติมเงิน" ให้เท่านั้น แต่จริงๆ ก้อนที่รวมกันแล้ว บริษัทยังไปจ้างคนข้างนอกบริหารให้อีกเป็นต่อที่สอง เพื่อให้เงินงอกเงย ไว้ลาออกเมื่อไหร่จะได้มี "เงินก้นถุงติดตัว"
คำนวณให้เห็นภาพง่ายๆ สมมุติเราเงินเดือน 30,000 บาท เป็นสมาชิกมา 4 ปีเข้าเงื่อนไขบริษัทสมทบให้ 5%
เราสะสม 5% ของเงืนเดือน = 1,500 บาท
บริษัทสมทบ 5% ของเงินเดือน = 1,500 บาท
รวมเป็นเงิน PVD ของเรา 3,000 บาท/เดือน เลยนะนั่น! ทั้งๆ ที่เงินเราแค่ 1,500 บาท เท่ากับว่าเราได้เงินเดือนฟรีๆ มาอีก 1 เท่าตัวหรือ 100% เลยทีเดียว
เล่ามาถึงตรงนี้ ก็นึกขึ้นได้ขอฝากไปถึงใครที่คิดจะเปลี่ยนงาน อย่าลืมดูเรื่อง PVD ที่ใหม่ประกอบด้วยนะคะ เพราะ PVD เหมือนกับคุณได้เงินเดือนจากบริษัทเพิ่ม แต่บางทีเราไม่ได้นึกถึงเพราะคิดว่ามันเป็นสวัสดิการแต่นี่มันคือ "สวัสดิการในรูปของ เงิน" ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือน โหยหาใช่หรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยากลาออก เปลี่ยนงานใหม่ เงินเดือนต้องเพิ่มเท่าไหร่ดี?
เห็นไหมว่า มีแต่ได้ กับได้! เมื่อเทียบกับการออมระยะยาวในรูปแบบอื่น เช่น RMF, SSF ไม่ว่าเราจะฝากไปเท่าไหร่ เงินต้นก็มาจากเราเท่านั้น ไม่ได้มีใครใจดี เป็นพี่บุญเติมเอาเงินมาเพิ่มให้อีกเหมือนกับ PVD ในขณะที่การใช้สิทธิ์เพื่อลดหย่อนภาษีก็ทำได้เหมือนกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : กองทุน SSF ดีแค่ไหน ?
บทความที่เกี่ยวข้อง : RMF กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนระยะยาวแต่ดี
จะมีข้อเสียบ้างก็แค่...เงินเดือนพร่องไปเหลือกินใช้น้อยลง และบางคนอาจจะบอกว่าพอเปิดดูผลตอบแทนระหว่างปีฉันก็ยังคงขาดทุน เงินต้นฉันก็ลดลง ใช่ค่ะ..เราขาดทุน แต่อย่าลืมนะว่า เรากำลังพูดถึงการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้
ดังนั้น ให้ฝากขังลืมไปเลย เพียงแค่ระหว่างปีเมื่อดูแล้วทิศทางลมไม่ดี เรายังสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ โดยทั่วไปก็ปีละ 2 ครั้ง จะเลือกแบบเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็ขึ้นอยู่กับเรา
มาถึงตรงนี้สำหรับใครที่ลาออกจากกองทุนไปแล้ว เกิดเปลี่ยนใจล่ะ?
ออกไปแล้วจะเข้ามาใหม่ ต้องรอให้ครบ 2 ปีก่อนค่ะ และแน่นอนสิ่งที่คุณเสียไปคือ “เงินสมทบที่คุณควรจะได้จากบริษัท” ในช่วงระยะเวลาที่ไม่ได้เป็นสมาชิก (เพราะลาออกจาก PVD แต่ยังคงทำงานที่เดิม)
พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเรากลับเข้ามาใหม่ อัตราการสมทบของบริษัทก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่ที่ 2-3% ของเงินเดือนเท่านั้น ในทางกลับกัน หากเราไม่ลาออกจาก PVD อายุการเป็นสมาชิกเราอาจจะ 5 ปีแล้ว และครบเงื่อนไขที่จะได้รับการสมทบจากบริษัทถึง 5% ของเงินเดือน เป็นต้น
ส่วนใครที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วหากไม่เดือดร้อนเกินไป แนะนำให้ลองขยับ % เงินสะสมเพิ่มขึ้น เพื่อให้เราเอาตัวเข้าใกล้คำว่า มั่งคั่งแบบอัตโนมัติค่ะ ขอฝากไว้ท้ายนี้ สรุปทิ้งท้ายให้ผู้อ่านลองถามตัวเองว่า...
1. ตอนนี้เรา “สะสม” PVD กี่เปอร์เซ็นต์?
2. บริษัทเรา “สมทบ” PVD สูงสุดกี่เปอร์เซ็นต์?
เพื่อที่ทุกท่านจะได้วิเคราะห์ และอยากปรับแผนการสะสมเงินใน PVD รอบถัดไป อย่างกองทุนฯ ที่บริษัทดิฉันใช้บริการอยู่นี้จะเปิดให้สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสะสมได้ปีละ 2 ครั้งในเดือน พ.ค.และ พ.ย. ยังไงก็ขอให้ทุกท่าน ติดตามข่าวสารจากทางบริษัทกันนะคะ
โปรดศึกษาให้เข้าใจด้วยว่าโมเดลของบริษัทเรานั้น มีเงื่อนไขในการสมทบอย่างไรบ้าง หลักๆ แล้วจะเป็นอายุงานค่ะ ยิ่งอยู่นาน % การสมทบของนายจ้างจะให้มากขึ้น แต่ส่วนตัวดิฉันมองว่า ไม่ว่าจะสมทบมาก หรือสมทบน้อย มันก็คือส่วนเพิ่มที่บริษัทเติมให้
ซึ่งดิฉันก็ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า ในรอบถัดไปนี้จะปรับเพิ่มอัตราเงินสะสมเป็น 15% (ทำไมไม่คิดได้ให้เร็วกว่านี้นะ! พลาดไปตั้งเยอะ) ตอนนี้ก็เลยเริ่มซ้อมออมรอไปก่อนค่ะ
ปีนี้ทุกๆ สิ้นเดือน 15% ของค่าจ้างจะถูกตั้งค่าปลายทางใหม่ ไปที่ PVD...เริ่ม!
#สนับสนุนให้ทุกคนออมแบบอัตโนมัติ #สนับสนุนให้ทุกคนรวยแบบอัตโนมัติ