“ปัญหาการเงินเดือนชนเดือน”
“ไม่มีเงินเก็บ ได้มาหมดไป”
“มีหนี้บัตรเครดิตติดตัว ต้องจ่ายขั้นต่ำตลอด”
⠀
เป็นปัญหาที่ผมได้ยินมาบ่อยมาก จากเหล่า First Jobber ที่พึ่งเริ่มต้นทำงานและเงินเดือนยังไม่สูงมากนัก รู้หรือไม่ว่า First Jobber ในประเทศไทย ก่อหนี้สูงที่สุด เงินเดือน 15,000 มีหนี้ประมาณ 5 แสน ทั้งเงินกู้ บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ
⠀
วันนี้ผมเลยจะมาขอพูดถึงเรื่องการเงินที่เกี่ยวกับ First Jobber โดยตรง
ก็คือ 5 กับดักการเงิน ที่ First Jobber ชอบพลาด
เพื่อให้ First Jobber ที่กำลังเข้าทำงาน รู้ถึงกับดักที่ต้องเจอและไม่พลาดตกหลุมพรางกลายเป็นหนี้ไม่รู้จบ
⠀
1.สร้างหนี้เสียตั้งแต่เริ่มมีเงินเดือน
เคยเป็นกันไหมครับ ตอนเด็กๆ มีของที่อยากได้ อยากได้นู่นนี่ เยอะแยะไปหมด ทั้งบ้าน รถ ของมันต้องมีต่างๆ แต่ตอนนั้นยังไม่มีเงินเดือนเป็นของตัวเอง
⠀
พอได้เริ่มต้นทำงาน มีเงิน ก็เลยใช้แหลก ซื้อทุกอย่างที่อยากได้ด้วยเงินเดือนที่ยังไม่สูงมากนักทำให้ต้องยอมเป็นหนี้ ใช้ไป ผ่อนไป กลายเป็นว่าไม่มีเงินเหลือเก็บ ต้องจ่ายหนี้ในทุกๆเดือน อย่าว่าแต่เงินเก็บเลย แค่ใช้ให้พอในแต่ละเดือนยังยาก
⠀
จึงอยากให้ First jobber พยายามหนีเรื่องหนี้ไปให้ไกลถ้าทำได้ ในช่วง 10 ปีแรก ให้เน้นเก็บเงิน สร้างตัวไปก่อน ศึกษาเรื่องการลงทุน แต่สำหรับที่จำเป็นต้องมีบ้านเพื่อสร้างครอบครัว หรือต้องมีรถเพื่อใช้ทำงาน ก็สามารถมีหนี้ได้ แต่ให้เหมาะสมกับรายได้ของเรา หนี้โดยรวมต่อเดือนทั้งหมด ต้องไม่เกิน 50% ของรายได้
⠀
2.ไม่สนใจเงินสำรองฉุกเฉิน มีเท่าไหร่ใช้ไม่ยั้ง
First Jobber บางคนชอบทำตัวเป็นเศรษฐีตอนต้นเดือน เงินออกปุ๊บ บุฟเฟต์ปั๊บ พร้อมกับของในมืออีก 4 -5 อย่าง พอท้ายเดือน ก็พึ่งมาม่าซองประทังชีวิตแทน บางคนก็บอกว่า แล้วมันไม่ดีตรงไหน มีเท่าไหร่ ก็ใช้เท่านั้นไม่ได้หยิบยืมใคร ไม่ใช้เงินเกินตัวสักหน่อย
⠀
แต่รู้ไหมว่า การใช้ชีวิตแบบนี้มันเสี่ยงมากนะ ในยุคปัจจุบันเพราะถ้าเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา ตกงานกะทันหัน หรือประสบอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินก้อนขึ้นมา มีปัญหาตามมาแน่ๆ เพราะเราไม่มีเงินก้อนเก็บไว้เลย สุดท้ายก็ต้องไปหยิบยืม ขอกู้มาอยู่ดี กลายเป็นหนี้เสียดอกไปซะงั้น เราจึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อย 6-12 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน
สมมุติผมใช้เดือนละ 10,000 บาท ก็เก็บไว้เลยสัก 60,000 ถึง 120,000 บาท กันพลาด ก็เก็บด้วยการหักออมก่อนใช้ เงินเดือนเข้ามาก็แบ่งออมไว้สัก 10% ไปเรื่อยๆพอเกิดอะไรขึ้นมา ก็ใช้เงินนี้ไปก่อน จะได้ไม่ต้องไปเป็นหนี้ สำรวจตัวเองดูนะครับ ว่าเรามีเงินก้อนนี้แล้วหรือยัง การมีเงินสำรองฉุกเฉิน มันไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดในยุคนี้ครับ
⠀
3.ไม่หาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มให้ตัวเอง
คนเราเริ่มทำงาน ก็เพราะต้องการเงิน ใช่ไหมล่ะครับ ดังนั้นถ้าอยากให้เงินเราสูงขึ้น มีหลายทางมากขึ้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาโอกาส หาช่องทางให้ตัวเองอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นหาอาชีพเสริม ขายของออนไลน์ โยกย้ายงานเพิ่มอัพเงินเดือน หรือทำงานในที่ของเราให้มันดี จนหัวหน้าอัพตำแหน่ง อัพเงินเดือน
⠀
4.ซื้อสินค้าเพราะอยากมี ไม่ได้ซื้อเพราะจำเป็น
บางคน ย้ำว่า บางคนมักคิดว่าการมีสิ่งของบางอย่าง คือ ประสบความสำเร็จ เช่น การมีรถเป็นของตัวเอง การมีบ้านหลังโตๆ คือการประสบความสำเร็จในชีวิตและค่านิยมแบบนี้แหละ มันถูกปลูกฝังไว้ให้กับคนรุ่นหลัง
⠀
กลายเป็นว่า รีบเรียนจบ รีบทำงาน รีบซื้อบ้าน ซื้อรถ โดยที่มันยังไม่จำเป็นไม่จำเป็นไม่เท่าไหร่ แต่มันยังไม่พร้อมนี่หน่ะสิ กลายเป็นว่าต้องมาแบกรับหนี้มหาศาล โดยที่เรายังไม่จำเป็นต้องมีและยังไม่พร้อม อยากให้หันมามองตัวเองจริงๆ อีกครั้งก่อนซื้อนะครับ ว่ามันจำเป็นต้องมีจริงๆไหม ต้องมีรถตอนนี้เลยไหม นั่ง MRT นั่งรถสาธารณะมันสะดวกกว่ารึเปล่า ซื้อมาแล้วได้ใช้มันโอเค แต่ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ ก็เหมือนกับเราเสียเงินผ่อนไปฟรีๆ ต้องซื้อบ้านตอนนี้เลยหรอ อยู่บ้านพ่อแม่ไปก่อนจะโอเคกว่าไหม ถ้าตัวเองตรงนี้ได้ ผมว่าเราจะใช้ชีวิตได้ง่ายกว่าเดิมเยอะเลย เพราะเราจะหันมาใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ
⠀
5.รู้สึกว่าการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว
ทุกคนรู้ไหมครับว่าคนไทย 70 กว่าล้านคน มีคนไทยเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถเกษียณได้ ส่วนอีก 95% ยังคงต้องทำงานต่อไป เพราะไม่มีเงินพอสำหรับเกษียณ
⠀
อย่างที่เราเห็นกันนะครับ ว่าบางคนที่อายุเกิน 60 ปีไปแล้วก็ยังคงทำงานอยู่ เพื่อหาเงินประทังชีวิตไปผมจึงอยากแนะนำ First Jobber ทุกคน ให้เราลองวางแผนการเกษียณของเราดู
เช่น ถ้าเราจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี แล้วคาดว่าจะเสียชีวิตตอน 80 ปี
เท่ากับว่าเราจะต้องมีเงินใช้หลังเกษียณไป 20 ปี
ก็คำนวณไปเลยว่าเราใช้เงินแต่ละเดือนเท่าไหร่ สมมุติใช้เดือนละ 20,000 บาท
เป็นเวลา 20 ปี ก็เท่ากับเงิน 4,800,000 บาท
⠀
ถ้าไปตะบี้ตะบันเก็บตอนใกล้เกษียณบอกเลยว่าเหนื่อย และแย่ที่สุดก็คือเก็บไม่ทันฉะนั้น ถ้าเราเริ่มเก็บสะสมตั้งแต่เป็น First Jobber การเกษียณของเราก็จะง่ายขึ้น ค่อยๆทยอยเก็บ หาแหล่งลงทุนที่ไม่เสี่ยงมาก แล้วใช้พลังดอกเบี้ยทบต้นในการช่วย
⠀
ปัจจุบันบางบริษัทมีตัวช่วยในการเกษียณให้กับพนักงาน อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)ที่จะหักเงินพนักงานเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสมทบให้เพิ่มให้อีกตามนโยบายของบริษัทนั้นๆอย่างของตัวผมเอง ผมหัก 10% ของเงินเดือน และบริษัทก็สมทบให้อีก 3% ซึ่งจะเพิ่มตามอายุงาน
⠀
ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับกับดักทั้ง 5 ข้อ ที่ First Jobber ชอบพลาดนะครับหลักๆก็จะเป็นเรื่องการสร้างหนี้เสียแล้วก็การซื้อของที่ไม่จำเป็นนะครับผมมองถ้าตัด 2 เรื่องนี้ออกไปได้ ชีวิตการเงินของเราจะง่ายขึ้นเยอะเลย