ไม่มีรายการ

เส้นทางการเงิน สู่ความมั่งคั่ง

เส้นทางการเงิน สู่ความมั่งคั่ง

02 กันยายน 2567


"A Goal without a plan is just a wish" คำคมสวย ๆ จากคุณ Antoine de Saint-Exupéry ผู้เขียนวรรณกรรมคลาสสิคเรื่อง "เจ้าชายน้อย"

วลีข้างต้นถ้าแปลไทยสไตล์ผมก็คงจะเป็น...

"เป้าหมายที่ไร้แผนการ ก็แค่ความปรารถนา (เพ้อเจ้อ)" ผมว่ามันโยงกับเรื่องการเงินได้ดีชะมัดเลยล่ะ

 

เช่น "ตั้งเป้าหมายอีก 10-20 ปี ต้องมีความมั่งคั่ง มีอิสระภาพทางการเงิน" แต่พอถามว่าจะทำอย่างไร...กลับใบ้รับประทาน !

 

"ก็ขยันทำงานเก็บเงิน ประหยัด อดออม แหล่ะ..." หราาาาา !!!!

ไม่ต่างอะไรกับการซื้อหวยเพื่อหวังรางวัลใหญ่ โอกาสสำเร็จน้อยมาก...

เป้าหมายที่ดี ต้องมีแผนการที่ดีรองรับด้วย ไม่งั้นมันก็ไร้ทิศทาง และอาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

ใช่ครับ ! ผมเองตั้งเป้าหมายเรื่องการมีอิสระภาพการเงิน และผมมีแผนการแล้ว วันนี้เลยอยากจะมาแชร์ให้เป็นแนวทางนับ ๆ ดูก็มีอยู่ 8 เรื่อง ประกอบด้วย...

 

1. แผนรายได้

อายุอานามตอนนี้ก็ไม่น้อยละ เข้าสู่ช่วง 30 ปลาย รายได้ที่พึงมีต่อเดือนรวมกันควรจะเกินครึ่งแสน (ผมเทียบกับคนรอบข้างในรุ่นราวคราวเดียวกัน) แต่งานหลักที่ทำมันคงไปได้ยาก ด้วยลักษณะวิชาชีพ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย ก็ต้องมีอาชีพเสริมสิจ๊ะ ผมพัฒนาทักษะต่าง ๆ ในหลายเรื่อง จนมีอาชีพเสริมเพิ่มมาอีก 2-3 งาน (ไม่บอกหรอก ^^) รวมรายได้ทั้งหมด ก็ตามเป้า ถามว่าเหนื่อยไหม ไม่เท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ผมทำ ผมต้องชอบเท่านั้น ลองทำดูนะครับ พัฒนาสิ่งที่ชอบ ต่อยอดสร้างรายได้เพิ่ม ช่วยได้เยอะเลย ยุคนี้ทำงานอย่างเดียวเสียวเด้ออ

 

2. แผนการออม

หลังจากหาเงินมาได้แล้ว ต่อไปนี้ก็ต้องทำแผนจัดการกับมัน เริ่มที่การออมเลย เพราะสำคัญมาก วิธีออมเงินก็มีเยอะแยะนะ "บทความล่ำซำ" แนะนำไว้เพียบ ลองหาอ่านย้อนหลังดู ส่วนผมจะกันรายได้แต่ละเดือนทันที 30% เพื่อเป็นเงินออม เงินสำรอง เงินเก็บ เรียกอะไรก็ได้ แต่จะไม่ใช้แน่ ๆ ในเดือนนี้

 

3. แผนลงทุน

ส่วนตัวผมชอบต่อยอดเงินออมให้สร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพราะถ้าออมในรูปแบบเงินสด ดอกเบี้ยมันต่ำมาก และจะโดดเงินเฟ้อดูดมูลค่าลงไปเรื่อย ๆ วิธีการของผมคือหักรายได้ 30% ไว้เป็นเงินออมใช่ไหม 10% จะเก็บอยู่ในรูปแบบของเงินสดเผื่อฉุกเฉิน ข้อดีของเงินสดคือมันคล่องตัว อยากใช้ก็ใช้ได้เลย

 

ที่เหลืออีก 20% ผมจะนำไปลงทุน แน่นอนว่าอยู่วงการตลาดทุน ก็ต้องลงทุนในหุ้น-กองทุนรวม โดยลงทุนผ่านการ DCA ในหุ้นพื้นฐานดี-กองทุนรวม เน้นผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 4-5% ขึ้นไปอันนี้ตั้งใจลงทุนยาวเลย ส่วนหุ้นรายตัวระยะสั้นก็มีลงทุนบ้าง แต่ไม่มากมายเหมือนตอนหัดเล่นหุ้นใหม่ ๆ เพราะผันผวนสูง ส่วนมากจะขาดทุน และประสบการณ์พบว่า หุ้นลงทุนยาวเวิร์คกว่า

 

4. แผนจัดการหนี้สิน

ตัวดีที่คอยดูดรายได้เราเลยสำหรับคนที่ยังไม่มีหนี้ อย่าสร้างหนี้หากไม่จำเป็นหรือถ้าจำเป็นก็อย่าให้เกิน 40% ของรายได้ แต่สำหรับผม ผู้ที่เคยมีหนี้มากกว่า 100% ของรายได้ซึ่งยังรับกรรมอยู่ทุกวันนี้ ก็ทยอยใช้คืนอย่างมีวินัย โดย 40% ของรายได้นั่นแหล่ะที่เอาไปจ่ายหนี้ระหว่างทางพยามตัดหนี้ก้อนใหญ่ออก เช่น บ้าน, รถ ตอนนี้ทำสำเร็จแล้ว สภาพคล่องดีขึ้นเยอะ ^^

 

ส่วนท่านที่กำลังผ่อนอยู่ และยังไหว...ต้องวางแผนการผ่อนให้ดี โดยเฉพาะ "บ้าน" ใช้กลไกของการคิดดอกเบี้ยให้เกิดประโยชน์ เช่น... เช็คอัตราดอกเบี้ยเพื่อรีไฟแนนซ์หรือโปะต่อเนื่อง เพื่อให้พ้นหนี้เร็วขึ้น

 

5. แผนจัดการภาษี

สำคัญมากสำหรับมนุษย์เงินเดือนใครที่รายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ไปศึกษาเลยว่าอะไรใช้สิทธิลดหย่อนได้บ้าง "บทความล่ำซำ" ก็มีเรื่องนี้นะ ^^ ผมนี่ไล่ทีละรายการเลย อะไรลดหย่อนได้บ้างใช้สิทธิทั้งหมด ไม่ยอมเสียไปฟรี ๆ หรอก ฮ่า ๆ

 

6. แผนประกัน

เมื่อมีไลฟ์สไตล์โลดโผน ประกันเป็นสิ่งที่ต้องมีผมทำไว้ทั้งประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ พยายามเลือกที่เป็นประกันแบบออมทรัพย์ เพราะจะได้ไม่เสียเบี้ยเปล่า ๆที่สำคัญใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกควรมีนะครับ เพราะตอนเจ็บป่วย การใช้สิทธิประกันที่ทำเองบริการจากโรงพยาบาลจะค่อนข้างดีกว่าประกันสังคม หึหึ

 

7. แผนเกษียณ

ตั้งเป้าไว้เลยจะเกษียณเมื่อไหร่และจะมีชีวิตหลังเกษียณไปอีกนานแค่ไหนหลังจากนั้นคำนวนเลยต้องใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะพอ

 

เช่นของผม อยากเกษียณ สักอายุ 50 ปีอยู่ไปอีก 20 ปี (เต็มที่เลยนะ ไม่น่าเกิน ฮ่า ๆ)

อยากมีเงินใช้สักเดือนละ 20,000 บาท (เผื่อไว้แบบเหลือ ๆ)

ก็เอา 20,000 x 12 x 20 เท่ากับผมต้องมีเงิน 4,800,000 บาท

 

ซึ่งก็ต้องย้อนไปที่แผนการออมและลงทุนว่าจัดสรรไว้ได้ดีแค่ไหน กรณีผมเหลือเวลาทำงานหาเงินอีก 13 ปี เพื่อให้ได้เกษียณตอนอายุ 50 ผมต้องเก็บออมเงิน+ลงทุนให้ได้เฉลี่ยปีละ 369,230 บาท พยายามทำให้ได้ตามเป้าอยู่นะครับ ^^

 

8. แผนมรดก

ข้อสุดท้ายอันนี้ก็ต้องชัดเจนว่าเราจะส่งต่อความสุขนี้ให้กับใครแยกแยะให้ชัดเจน เพื่อที่วันหนึ่งเราโกอินเตอร์แล้ว คนข้างหลังจะได้ไม่วุ่นวาย

8 ข้อที่กล่าวมาทั้งหมด จะขาดเสียข้อหนึ่งข้อใดเลยก็มิได้นะควรทำทั้งหมด ทบทวนแผนทุก ๆ ปี ข้อไหนดีข้อไหนต้องปรับปรุง และอย่าเขียนแผนด้วยความจำ ต้องจดบันทึกไว้ เพราะคุณจำไม่หมดหรอก ผมเชื่อเหลือเกินว่า 8 ลายแทงนี้จะนำพาตัวผมไปสู่อิสระภาพการเงินตามเป้าหมาย

ลองทำดูครับ...

 

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ