ไม่มีรายการ

รีไฟแนนซ์บ้าน คุ้มกว่า ขอลดดอกเบี้ย จริงหรือ?

รีไฟแนนซ์บ้าน คุ้มกว่า ขอลดดอกเบี้ย จริงหรือ?

17 เมษายน 2563


เรื่องมีอยู่ว่ากำลังจะ "รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน"

เพราะจังหวะตอนนี้ยิ่งกว่า Summer Sale !

ดอกเบี้ยลดในลดในลด หลายเด้ง หลายขั้น

ทั้งลดจากมาตรการช่วยเหลือโควิด-19

ลดตามดอกเบี้ยนโยบาย

และลดเพราะจัดโปรโมชั่นของแบงก์เอง

โคตรดีย์......

 

แต่...มีคนทักมาบอกว่า

"ลองไปขอลดดอกเบี้ยดูก่อนไหม ?"

ง่ายและสะดวกกว่า

ยิ่งภาวะตอนนี้น่าจะยิ่งง่าย

อย่าลืมว่าการ "รีไฟแนนซ์"

เท่ากับการ "กู้ใหม่"

ต้องมี “ค่าประเมิน-จดจำนอง-อากรแสตมป์

รวม ๆ แล้วหลายหมื่นเลยล่ะ

บวกลบคูณหารดูหรือยัง ?”

 

เออเนอะ ... ลืมคิดไป

คิดแต่ดอกเบี้ยใหม่ที่แสนถูก

(คนเราก็งี้มักมองข้ามสิ่งที่อยู่ข้างกาย - - " เกี่ยวไหม ?)

 

เลยคิดว่าเอามาเขียนและคำนวณไปพร้อมกันดีกว่า

เผื่อท่านผู้อ่านจะได้ไอเดียตามไปด้วย

ระหว่างนี้ไปหาแอพพลิเคชั่นคำนวณสินเชื่อมารอเลย

มีเยอะแยะ ลอง Google ดูได้เลย

ของผมใช้ "Financial Calculators"

ฟังชั่น "Loan calculator"

(ใช้คำนวณสินเชื่อแบบลดต้นลดดอก)

ถ้าไม่สะดวกแอพฯ ก็ Google พิมพ์ “คำนวณสินเชื่อบ้าน”

เพียบ !!! บอกเลย

 

อะต่อ...ผมเหลือหนี้อยู่ 2,000,000 บาท

ระยะเวลาที่เหลือคือ 20 ปี 4 เดือน

ตอนนี้ผ่อนมา 4 ปี 8 เดือนละ

(ก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดรีไฟแนนซ์ เคลียร์ประวัติอยู่ อิอิ)

แบงก์ที่ใช้อยู่อัตราดอกเบี้ย MRR-2

เท่ากับ 7.35 - 2 เหลือ 5.35

หรือหากท่านใช้แบงก์อื่น ๆ ลองดูตามตาราง

MRR จะลบเท่าไหร่ ไปดูรายละเอียดในสัญญาเองเด้อ  เพราะแต่ละแบงก์ไม่เท่ากัน

แต่ว่า MRR จะลบเท่าไหร่

ไปดูรายละเอียดในสัญญาเองเด้อ

เพราะแต่ละแบงก์ไม่เท่ากัน

 

ทีนี้แบงก์ที่ผมใช้ ขอเขาลดดอกเบี้ยได้ 2%

ที่อื่น ๆ ก็แล้วแต่นโยบายและประวัติการผ่อนของเรา

แต่ไม่น่าจะต่างกันมาก ถามเพื่อนก็ได้ประมาณนี้

เท่ากับหากใช้แบงก์เดิมดอกเบี้ยผมจะเหลือ

5.35 - 2 = 3.35% ตลอดอายุสัญญา

 

ถ้าไม่ทำอะไรเลย

ยอดเงิน 2,000,000 บาท

ผ่อน 20 ปี 4 เดือน

อัตราดอกเบี้ย 5.35%

ผมจะผ่อนเดือนละ 13,465 บาท

ในยอดนี้มีดอกเบี้ยถึง 8,917 บาท

เงินต้นแค่ 4,548 บาท

แม้สัดส่วนจะลดลงเรื่อย ๆ ตามเงินต้น

แต่กว่าดอกเบี้ยจะเหลือต่ำกว่า 8,xxx บาท

ต้องผ่อนไปถึง 43 เดือน !!!

เพราะเงินต้นมันลดน้อยมาก

 

ถึงว่ามาตรการพักชำระเงินต้น

ที่แบงก์ออกมาช่วยโควิด-19

ถึงโดนโวยวายระงม

 

ทีนี้หากขอลดดอกเบี้ย

ยอดเงิน 2,000,000 บาท

ผ่อน 20 ปี 4 เดือน

อัตราดอกเบี้ยเหลือ 3.35%

ผมจะผ่อนเหลือเดือนละ 11,314 บาท

ดอกเบี้ยต่อเดือนลดลงเหลือ 5,583 บาท

เท่ากับจะได้จ่ายเงินต้นมากขึ้น

โดยดอกเบี้ยจะเหลือต่ำกว่า 5,xxx บาท

หลังผ่อนไป 36 งวด หรือ 3 ปี

 

เพื่อให้เห็นภาพใหญ่

หากอยู่แบงก์เดิมต่อไปและผ่อนจนหมด

ดอกเบี้ยเดิมยอดทั้งรวมจะเท่ากับ 3,285,321 บาท

คิดเป็นดอกเบี้ยถึง 1,285,321 บาท

จากเงินต้นปัจจุบันเพียง 2,000,000 บาท

แม่เจ้า...แบงก์ถึงรวยเอารวยเอา

 

แต่ถ้าขอลดดอกเบี้ย

เมื่อผ่อนครบกำหนด

ยอดทั้งหมดจะเท่ากับ 2,760,592 บาท

คิดเป็นดอกเบี้ย 760,592 บาท

ประหยัดไป 824,729 บาท

(ได้รถเก๋งดี ๆ 1 คัน หึหึ)

 

ทีนี้หากรีไฟแนนซ์ล่ะ

แน่นอนว่า 3 ปีแรกจะได้ดอกเบี้ยพิเศษ

เท่าที่สำรวจดูโปรโมชั่นต่ำสุดของแต่ละแบงก์ล่าสุด

(เท่าที่มีเปิดเผยหน้าเว็บไซต์ เพราะบางแบงก์ก็ไม่มี)

จะได้ประมาณนี้

โปรโมชั่นรีไฟแนนซ์บ้านต่ำสุดของแต่ละแบงก์ล่าสุด (เท่าที่มีเปิดเผยหน้าเว็บไซต์ เพราะบางแบงก์ก็ไม่มี)

คิดแบบรวม ๆ เฉลี่ยก็ 2.8%

ย้ำ ! แค่ 3 ปีแรก

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระบบ MRR - ... เหมือนเดิม

 

คำนวณแบบย้ายแบงก์แล้วผ่อนเวลาเท่าเดิมเลย

(จริง ๆ สามารถเพิ่มหรือลดระยะเวลาผ่อนได้)

ยอดเงิน 2,000,000 บาท

ดอกเบี้ย 2.8%

ระยะเวลา 20 ปี 4 เดือน

ต้องผ่อนเดือนละ 10,760 บาท

ดอกเบี้ยต่อเดือน 3 ปีแรกเหลือเพียง 4,667 - 4,149 บาท

ลดดอกเบี้ยต่อเดือนได้อีกพอสมควรเลย

 

ทีนี้ผมจะลองเปรียบเทียบ 3 ปีจากนี้

"ขอลดดอกเบี้ย" กับ "รีไฟแนนซ์" แบบไหนดีกว่ากัน

 

ถ้าขอลดดอกเบี้ย

จ่ายดอกเบี้ยรวม 190,595 บาท

ลดเงินต้นได้ 216,705 บาท

ยอดหนี้คงเหลือ 1,789,613 บาท

 

ถ้ารีไฟแนนซ์

จ่ายดอกเบี้ยรวม 154,653 บาท

ลดเงินต้นได้ 221,932 บาท

ยอดหนี้คงเหลือ 1,778,068 บาท

 

ดูแบบนี้รีไฟแนนซ์ชนะสิ

เพราะดอกเบี้ยถูกกว่า 35,942 บาท

ลดเงินต้นได้มากกว่า 5,230 บาท

ยอดหนี้รวมลดลง 11,545 บาท

ก็แหงล่ะ ดอกเบี้ยมันถูกกว่านี่น

 

แต่อย่าลืมว่าการ "รีไฟแนนซ์"

จะมีต้นทุนเพิ่มจากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

เช่น ค่าประเมินราว 2,000-5,000 บาท แล้วแต่แบงก์ / บ้าน

ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน (ไม่เกิน 10,000 บาท)

ค่าจดจำนอง 1% ของเงินกู้

บางที่ต้องทำประกันไฟไหม้ด้วย

แถมมีค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการด้วย

เช่น ค่าโทรศัพท์ - ค่าถ่ายเอกสาร - ค่ารถ - ค่าข้าว - ค่ารำคาญกระบวนการ

 

คำนวณคร่าว ๆ

ค่าประเมินกลาง ๆ เลย 3,000 บาท

ค่าอากรฯ 1,000 บาท

ค่าจดจำนอง 20,000 บาท

ประกันเว้นไว้ก่อน (เพราะเลือกแบงก์ที่ไม่ต้องทำได้)

ค่าโทรศัพท์ - ค่าถ่ายเอกสาร - ค่ารถ - ค่าข้าว

ประเมินคร่าว ๆ ไปอีกสัก 1,000 บาท

รวมแล้วประมาณ 25,000 บาท

 

พอเห็นภาพยังครับ

โอเค เราประหยัดดอกเบี้ยได้ 35,942 บาท ใน 3 ปีนี้

แต่เราต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 25,000 บาท

ยังไม่รวมความน่าเบื่อน่ารำคาญของกระบวนการ

เท่ากับว่าส่วนต่างประมาณ 1x,xxx บาท

แต่แลกกับความสะดวก

ที่สำคัญหากรีไฟแนนซ์เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยต่ำ

ก็ทำได้แค่ 3 ปี และต้องวนลูปทำใหม่ไปเรื่อย ๆ

ซึ่งพอยอดเงินต้นเหลือต่ำกว่า 1,000,000 บาท

ก็จะเริ่มขอรีไฟแนนซ์ยากละ (แบงก์เริ่มไม่คุ้มที่จะทำให้)

กลับกันขอ “ลดดอกเบี้ย” นั้นแสนชิล

ไม่มีกระบวนการยุ่งยาก

แถมยังทำได้ทุก 3 ปีเหมือนกัน

แต่ถ้ายอดเงินต้นเหลือต่ำกว่า 1,000,000 บาท

ก็จะเริ่มขอยากเช่นกัน

 

เดี๋ยวก่อน...ไม่ได้บอกว่า "รีไฟแนนซ์" ไม่ดีเด้อ

ข้อดีก็เพียบเลย

1. ดอกเบี้ยจ่ายลดลงชัวร์ ๆ เลย

2. ลดเงินต้นได้มากขึ้น

3. ภาระค่างวดลดลง

อันนี้สำคัญมาก !

คือถ้าขอ "ลดดอกเบี้ย" จ่ายเหลือเดือนละ 11,314 บาท

แต่ถ้า "รีไฟแนนซ์" จ่ายเดือนละเพียง 10,760 บาท

ประหยัดไป 554 บาท

ถ้าเอาเงินจำนวนนี้ไป “โปะ” เพิ่มในรายเดือนล่ะ

ลดเงินต้นได้อีกรึ่มเลยนะจะบอกให้ !

เพราะสินเชื่อบ้านมันลดต้นลดดอก

จากเดิมเงินต้นจะหายไปเพียง 221,932 บาท

ถ้าใช้วิธีเอาส่วนต่างไปโปะเงินต้นหายไป 242,111 บาท

หรือใน 3 ปีนี้ ลดเงินต้นมากกว่า "ขอลดดอกเบี้ย"

เพิ่มขึ้นมาเป็น 25,406 บาท จากเดิมต่างกันแค่ 5,230 บาท

และการที่เงินต้นลดลงไว เท่ากับงวดผ่อนจะลดลงด้วย

นอกจากนี้ที่กังวลเรื่องต้นทุนเพิ่มจากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

ตอนนี้บางแบงก์มีโปรโมชั่นนะ เช่น ฟรีค่าประเมิน-จดจำนอง

ต้องลองติดต่อสอบถามรายละเอียดแต่ละที่ดู

 

สุดท้ายไม่ว่าจะวิธี "ขอลดดอกเบี้ย" หรือ "รีไฟแนนซ์"

ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนะ เรื่องพวกนี้ต้องวางแผนจัดการ

ไม่ใช่ผ่อนไปวัน ๆ เพราะคนเสียประโยชน์คือเราเอง

ส่วนจะเลือกวิธีไหนก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่าน

ผมจะไม่ชี้นำเด็ดขาด เพราะไม่ใช่เงินผม

เพียงแต่มาแยกแยะให้เห็นภาพไปพร้อมกัน

ส่วนผมเองนั้น ... ไม่บอกหรอก

แค่มาบอกวิธีตกปลาให้ ... แต่ไม่ตกให้หรอก ฮี่ ๆ

 

เปรียบเทียบกันจะๆ สำหรับการ “ขอลดดอกเบี้ย” VS “รีไฟแนนซ์” ว่าอันไหนคุ้มกว่ากัน

อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆ ที่ผ่อนบ้านใกล้จะครบ 3 ปี หรือผ่อนบ้านครบ 3 ปี แล้ว ควรที่จะวางแผนรีไฟแนนซ์บ้าน ด้วยการหาข้อมูลดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านแต่ละธนาคารได้รอได้แล้ว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านในปีถัดๆไป

สนใจอยากรีไฟแนนซ์บ้านหรือเช็กดอกเบี้ย สามารถดูรายละเอียด พร้อมยื่นสมัครรับข้อเสนอพิเศษ คลิกได้ที่นี่...

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ