ไม่มีรายการ

ทำงานมาทั้งปี ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?

ทำงานมาทั้งปี ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?

25 พฤศจิกายน 2567


มนุษย์คนทำงานอย่างเราๆ พอมีรายได้ ทุกปีเราก็มีหน้าที่ที่ต้องยื่นภาษีอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่การคำนวณเรียกเก็บภาษีนั้น ก็ใช่ว่าเราจะเสียภาษีตั้งแต่รายได้บาทแรก เรามีสิทธิที่จะหักค่าใช้จ่ายได้และมีสิทธิเลือกในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ด้วย

 

ซึ่งเชื่อว่าใกล้สิ้นปีแบบนี้ หลายๆคนก็คงเริ่มมองหาเพื่อจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกันแล้ว แต่ก่อนที่เราจะไปเลือกใช้สิทธิลดหย่อนให้ถูกต้อง ประหยัดและคุ้มค่า อยากชวนทุกคนไปคำนวณกันก่อนว่าทำงานหาเงินมาทั้งปี ต้องจ่ายภาษีกี่บาทกัน



ภาษีที่ถูกเรียกเก็บ เขาคิดกันยังไง 

ก่อนอื่น อยากชวนทุกคนไปทำความเข้าใจกันก่อนว่าการคิดภาษีต้องมีข้อมูล 3 ส่วนนี้ก่อน คือ 

 

ㅤㅤㅤㅤรายได้ตลอดทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ

 

รายได้ตลอดทั้งปี 

สำหรับการวางแผนภาษีระหว่างปี คนที่มีรายได้ที่แน่ชัดอย่างเช่น เงินเดือน จะสามารถประมาณการล่วงหน้าได้ง่าย เพราะได้รายได้สม่ำเสมอ แต่สำหรับคนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ อาจเลือกใช้วิธีประมาณรายได้คร่าวๆ เช่นจาก รายได้เฉลี่ยของช่วง3เดือน ล่าสุด หรือรายได้เดือนนี้ของปีที่แล้ว เพื่อที่อย่างน้อยน่าจะพอช่วยให้เห็นภาพได้ว่า ปีนี้จะต้องเสียภาษีประมาณเท่าไหร่ 

 

ค่าใช้จ่าย 

ในส่วนการหักค่าใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับตามประเภทของเงิน โดยประเภทของเงินได้แต่ละประเภทมีการหักใช้จ่ายที่แตกต่างกัน 

 

อย่างเช่น 

เงินได้ประเภทที่ 1 หรือ 40(1) รูปแบบรายได้ของมนุษย์เงินเดือน จะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

 

ขณะเดียวกัน ถ้าใครขายของออนไลน์ แบบซื้อมาขายไป

จะตกอยู่ใน เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ 40(8) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือ หักแบบเหมาได้ถึง 60% 

 

ดังนั้นก่อนจะไปดูว่าเราจะจ่ายภาษีเท่าไหร่ จำเป็นต้องรู้ว่ารายได้เราเป็นประเภทไหน เพราะ แม้รายได้เท่ากัน อาจเสียภาษีไม่เท่ากันก็ได้

 




ค่าลดหย่อนภาษี

แม้เรามีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกปี แต่ใช่ว่าเราต้องจ่ายภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะ ก็ยังมีทางเลือกให้เราสามารถประหยัดภาษีแบบถูกต้องได้ นั่นก็คือ การเลือกใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 

 

โดยพื้นฐานสำหรับค่าลดหย่อน เราจะมีหนึ่งสิทธิติดตัวทุกคน นั่นก็คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000บาท 

 

ส่วนค่าลดหย่อนอื่นๆ ก็สามารถเลือกใช้สิทธิได้ตามความเหมาะสมของแต่คนได้เลย แต่ผมแนะนำว่า การเลือกใช้สิทธิควรเลือกใช้สิทธิที่เหมาะสมกับเป้าหมายระยะยาวหน่อย เพราะ แม้เราจะได้ประหยัดภาษีก็จริง แต่การใช้สิทธินี้ก็มีเงื่อนไขที่ต้องถือรอคอยเวลาเช่นกัน

 

เมื่อเรามีข้อมูลทั้ง 3 ส่วนนี้เรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมจะไปคำนวณภาษีกันต่อได้แล้ว

โดยเราจะใช้

 

ㅤㅤㅤㅤรายได้ตลอดทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ

 

ซึ่งสำหรับรายได้สุทธิจะเป็นตัวเลขรายได้ขั้นสุดท้ายที่ถูกหักค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้วและจะเอาไปคิดตามฐานภาษีขั้นบันได้ต่อไป นั่นหมายความว่า ถ้าเรามีรายได้สุทธิเหลือเยอะ ก็มีโอกาสต้องจ่ายภาษีเยอะนั่นเอง 



ยิ่งรายได้เยอะ ยิ่งเสียภาษีสูง

 

สำหรับการคำนวณภาษี ถูกคิดคำนวณฐานภาษีแบบเป็นขั้นบันได ซึ่งในประเทศไทย จะมีฐานภาษี ตั้งแต่ 5% ไปสูงสุดที่ 35%

 

ดังนั้น การที่เรามีรายได้เยอะหักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อนได้น้อย ก็จะยิ่งเสียภาษีอยู่ในฐานที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ 

โดยวิธีการคิดภาษีแบบขั้นได เราสามารถคำนวณไปทีละขั้นก็ได้ 

เช่น รายได้สุทธิ 350,000 บาท

 

ฐานภาษีฐานแรก 0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น

 

ฐานภาษีที่ 2 150,001 - 300,000 บาท จะเสียภาษีที่ฐาน 5% สูงสุด 7,500 บาท 

= 150,000 x 5% = 7,500 บาท

 

ซึ่งถ้าดูรายได้สุทธิในตัวอย่าง มีรายได้สุทธิ มากกว่า 300,000  บาท แสดงว่าฐานภาษี 5 % นี้เราจะเสียเต็มๆ หรือก็คือ 7,500 บาท

 

แต่นี่ยังไม่หมด เพราะ เรามีรายได้สุทธิจริงๆที่ 350,000 บาท แสดงว่ายังมีส่วนที่ยังไม่ได้คิด ก็คือ 50,000 บาท 

 

โดย 50,000 บาทนี้จะขยับฐานภาษีขึ้นไปในลำดับขั้นถัดไป ในตัวอย่างนี้ก็คือ ฐาน 10% นั่นเอง

ถ้าจากตัวอย่างเท่ากับว่า 50,000 x 10% = 5,000 บาท

 

ดังนั้น หากมีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนแล้วอยู่ที่ 350,000 บาท จะต้องเสียภาษีทั้งหมด 7,500 + 5,000 = 12,500 บาท

 

สำหรับวิธีการคิดแบบง่ายอีกวิธี สามารถใช้ รายได้สุทธิ เทียบกรอบฐานภาษีสูงสุดตามรายได้ของเรา

เช่น 

รายได้สุทธิ 350,000 บาท ฐานภาษีสูงสุด 10%

เงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง  300,001 -  500,000 บาท 

= (เงินได้สุทธิ - 300,000) x10%   แล้วนำภาษีที่ต้องจ่ายในฐานก่อนหน้า คือ 7,500 บาท มาบวกเข้าไป

 

รายได้สุทธิ 580,000 บาท ฐานภาษีสูงสุด 15%

เงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง  500,001 -  750,000 บาท 

= (เงินได้สุทธิ - 500,000) x15%   แล้วนำภาษีที่ต้องจ่ายในฐานก่อนหน้า คือ 27,500 บาท มาบวกเข้าไป



เมื่อเรารู้ชัดเจนแบบนี้แล้วว่าเงินได้ของเราตลอดทั้งปี เมื่อหักค่าใช้จ่าย หักสิทธิลดหย่อนที่มีปัจจุบันแล้ว ถ้าเราอยากใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมทั้งหมดเท่าไหร่ เพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิได้ถูกต้องไม่ผิดเงื่อนไขแถมช่วยให้ประหยัดภาษีได้คุ้มค่ามากขึ้น

 

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ