ไม่มีรายการ

ข้อดี ข้อเสีย ธุรกิจเครือข่ายที่จะทำให้คุณกระจ่าง!

ข้อดี ข้อเสีย ธุรกิจเครือข่ายที่จะทำให้คุณกระจ่าง!

23 มีนาคม 2563


ช่วงนี้รายได้ทางที่สองกำลังมาแรงใครๆ ก็อยากหาเงินเพิ่มกันทั้งนั้น และหลายคนอาจกำลังหาลู่ทาง เล็งธุรกิจเครือข่ายบ้าง ขายประกันบ้าง ขายของออนไลน์บ้าง ขายบทความบ้าง (ขายบทความ เคยเขียนไปในบทความที่แล้ว) ฯลฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฮาวทู "หาเงิน" แบบจับเสือมือเปล่า ฉบับพนักงานออฟฟิศ

วันนี้จะพูดถึง "ธุรกิจเครือข่าย" ที่มักมีคำพูดว่าทำง่าย แค่ใช้ดีแล้วบอกต่อ ก็ได้เงินกลับคืน เพื่อให้ใครหลายคนที่กำลังชั่งใจว่าลองทำดีมั๊ย? ศักยภาพอย่างเราทำได้หรือเปล่า? เอ๊ะ! รายได้ต่อเดือนมันประมาณไหน ลงทุนอะไรบ้าง?

บทความนี้จะสรุป ข้อดี-ข้อเสีย เพื่อไขความสงสัยทั้งหมด คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ สำหรับคนที่กำลังชั่งใจ...ฝากไว้เป็นข้อคิด ข้อพิจารณา

แต่จะขอออกตัวไว้ก่อนตรงนี้ว่า ดิฉันไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจนี้ แต่แค่คิดว่า "ประสบการณ์" ที่แลกมาด้วย "ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต" วัยทำงานอยากสร้างตัวมันหาซื้อไม่ได้ และวันนี้จะแจกฟรี!

ข้อดีของธุรกิจเครือข่าย

#1. ลงทุนน้อย เมื่อเทียบกับเปิดกิจการเอง

ธุรกิจเครือข่าย หรือการตลาดแบบเครือข่าย (MLM) สังเกตได้ว่ามีคำว่า "ธุรกิจ" ดังนั้น ธุรกิจหมายความว่าต้องมีการลงทุน มีผลขาดทุน มีผลกำไร ซึ่งหากเทียบกับธุรกิจอื่นแล้ว เครือข่าย ลงทุนไม่มาก ค่าสมัครหลักร้อย ซื้อของหลักพัน ก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้

คุณไม่ต้องไปจดทะเบียนตั้งบริษัท ไม่ต้องลงทุนงานระบบงานธุรการหลังบ้าน ไม่ต้องมาวุ่นวายทำระบบบัญชี เพราะบริษัททำให้หมดแล้ว ไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างคนงาน คุณเพียงแต่เข้าไปร่วมเป็นสมาชิก ก็สามารถทำธุรกิจได้เลย

พูดง่ายๆ ก็คือว่า บริษัทมี "แพลตฟอร์ม" ทางธุรกิจให้หมดแล้ว เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุณแค่เอาน้ำร้อนเติมใส่ก็ทานได้แล้ว นั่นคือสมัคร ซื้อผลิตภัณฑ์ใช้ และไปบอกต่อเพื่อให้เกิดยอดขาย

แล้วท้ายสุดก็จะได้ค่าคอมมิชชั่น ตามผลงานความขยัน

#2. ฝึกความอดทน จากการถูกปฏิเสธ

ถ้าการลงทุนในตลาดหุ้น มีอัตราความอยู่รอดที่ 20% (อีก 80% ก็ล้มหายตายจาก) การทำธุรกิจเครือข่ายก็คงไม่ต่างกัน คุณเองก็คือค่าเฉลี่ย แต่ค่าเฉลี่ยนี้ไม่ได้บอกว่า เฮ้ย คุณควรทำหรือไม่ควรทำ! มันก็เหมือนกันกับตลาดหุ้นตรงที่อัตราการรอดมันไม่สูง

แต่คำถามคือทำไมคนก็ยังอยากจะเข้ามาลองล่ะ เพราะทุกคนมีความหวัง มีเป้าหมายเรื่องการเงิน

ดังนั้น เมื่อตัดสินใจว่าคุณจะเป็นคนกลุ่ม 20% หรือ Survivor กว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้น คุณต้อง "บอกต่อ" ให้มากพอ ยิ่งบอกต่อมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งเจอการ "ถูกปฏิเสธ" มากขึ้นเท่านั้นโดยที่คุณห้าม "นอยด์" เพราะอาการ "นอยด์" จะทำให้คุณขาดพลังในการบอกต่อว่า เฮ้ยสินค้าคุณมันดี มันน่าใช้ ธุรกิจคุณมันน่าทำ

"แววตาคุณ" มันจะบอกทุกสิ่ง ดังนั้น หัวใจคุณต้อง "สตรอง" มากๆ เลยละค่ะ

#3. ฝึกทักษะด้านการบริหารคน

เมื่อคุณทำไปสักพักเครือข่ายธุรกิจคุณเติบโต ระหว่างทางคุณจะได้ฝึกความสตรองของจิตใจตัวเอง และคุณจะได้ฝึก "บริหารทีมงาน" ด้วย เพราะถ้าอยากจะมีรายได้มากต้องขยายเครือข่าย หรือสร้างทีม

หลายคนทำงานบริษัท เราก็เป็นได้แค่ลูกน้อง แม้จะเก่งแค่ไหนแต่ไม่มีตำแหน่งให้ยืน บางทีอยากแสดงความสามารถอะไรก็ไม่ค่อยจะมีโอกาสหรือมีก็น้อย โดยเฉพาะระบบงานในสังคมไทยที่เป็นแบบปิรามิด สั่งจากบนลงล่าง มีขั้นมีตอน แต่ในการทำธุรกิจขายตรงคุณจะได้ปลดปล่อยศักยภาพ เมื่อทีมงานเติบโตแม้เราจะไม่ใช่หัวหน้าโดยตำแหน่ง แต่โดยโครงสร้างของแผนการตลาด เราคือผู้นำที่เข้ามาก่อน เราคือพี่เลี้ยง

ดังนั้น ทุกศาสตร์ในการ "บริหารคน" คุณจะได้ใช้มันแน่นอนในฐานะผู้นำหรืออัพไลน์ ทั้งการฝึกอบรม (Training), การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring), การให้คำแนะนำ (Consulting) การโค้ช (Coaching) ฯลฯ

แทบจะทุกบริษัทจะมีสอนกันในระดับผู้นำ หรือตำแหน่งสูงๆ จะเรียกเพชร เรียกเพรสซิเดนต์ เรียกไดมอนด์ เรียกโกลด์ หรืออะไรก็ว่ากันไป ควบคู่กับการที่เราจะต้องศึกษาเอง พัฒนาตัวเองในทุกๆ วันจากสนามจริง

#4. ฝึกความเป็นเจ้าของธุรกิจ

ปกติแล้ว เราทำงานประจำ เราก็ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยที่ไม่ต้องไปกังวลว่าสิ้นเดือนมา จะได้เงินเท่าไหร่ เพราะเคยได้เท่าไหร่ เราก็จะได้เท่านั้นในทุกๆ เดือน

แต่การทำธุรกิจเครือข่าย รายได้ในแต่ละเดือนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับยอดขายที่เราทำได้ในกลุ่มธุรกิจ แน่นอนไม่ใช่มาจากเราคนเดียว เพราะอย่างนี้จะไม่เรียกเครือข่าย ดังนั้น หากเดือนนั้นยอดขายตก แล้วหวังว่าจะได้ค่าคอมมิชชั่นเท่าเดือนก่อน มันคงเป็นไปไม่ได้

หรือเราจะรอให้ทีมงานทำตลาด แนะนำผลิตภัณฑ์ เปิดโอกาสให้ผู้คน แต่เราไม่ทำเป็นตัวอย่างเลย ในฐานะผู้ที่เข้ามาก่อน (อัพไลน์) แบบนี้จะเกิดปัญหาตามมาในองค์กรได้ง่ายๆ และอาจนำไปสู่การเข้าๆ ออกๆ ในธุรกิจ เพราะเกิดความขัดแย้งในสายงาน

ดังนั้น ธุรกิจเครือข่ายคือธุรกิจของเราเองและเป็นงานด้านการบริหารคน ชนิดที่ว่าปราบเซียนมานักต่อนัก มันไม่หมูเหมือนการเป็น "ลูกจ้าง" กินเงินเดือนแน่นอน คุณจะได้ฝึกวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะยาว เสมือนบริษัทที่ต้องทำแผนธุรกิจและตั้งเป้ายอดขายในแต่ละปีนั่นเอง

#5. ฝึกบุคลิกภาพ

คุณจะได้ฝึกบุคลิกภาพ ฝึกความกล้า เช่น การพูดต่อหน้าสาธารณชน การแต่งหน้า การแต่งตัว การนั่ง ยืน เดิน เรียกได้ว่า ทุกคอร์สที่จะพัฒนาความเป็นนักธุรกิจ จะมารวมกันอยู่ที่ธุรกิจเครือข่ายเพื่อที่จะพัฒนาคนธรรมดาๆ ให้เป็นคนที่กล้าแสดงออก และมีทักษะพร้อมที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ

เรียกได้ว่า สนามนี้ฝึกคุณให้กล้าจับไมค์ กล้าแสดงความเป็นผู้นำ กล้าพรีเซนต์ตัวเอง ไม่ว่าจะอาชีพไหนๆ ก็ตามค่ะ คุณจะได้สิทธิ์้นั้นเดี๋ยวนี้ หากเข้ามาศึกษาในธุรกิจเครือข่าย

#6. ฝึกบริหารจัดการเวลา

เวลาคนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน เมื่อคุณใช้ 8 ชั่วโมงในการทำงานประจำแล้ว เวลาที่เหลือคุณก็จะเริ่มจัดสรรมาให้กับ ธุรกิจเครือข่ายทำให้คุณได้ฝึกบริหารจัดการเวลาได้อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างรายได้ทางที่สอง

แต่หลายคนบริหารเวลาผิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้นะ แทนที่ 8 ชั่วโมงจะเป็นของงานประจำ (ที่นายจ้างจ่ายเงินเดือนคุณไม่เคยขาด) กลับเอาเวลาในส่วนนี้มาโทรศัพท์แนะนำผลิตภัณฑ์ นำเสนอโอกาสทางธุรกิจ เซอร์วิสลูกค้า แบบนี้ก็ไม่น่าจะเข้าท่าแล้ว ต้องบริหารจัดการให้ดีค่ะ ก่อนที่ฝ่ายบุคคลจะเรียกคุยเอาเสียก่อน

#7. มีรายได้ทางที่สอง

บอกเลยว่าเวิร์คแน่ถ้าลงมือทำให้มากพอ ถามว่ามันได้มากขนาดไหน รายได้นี่มีตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักแสนบาทต่อเดือน (ส่วนตัวเคยทำได้หลักพัน-หลักหมื่น) แต่ในแต่ละเดือนจะผันผวน อย่างที่บอกว่าขึ้นกับยอดขายสินค้า (เพราะมันไม่ใช่เงินเดือน)

ที่สำคัญไปว่านั้น รายได้มากน้อยจะขึ้นอยู่กับ "แผนการตลาด" ด้วย ซึ่งแผนการตลาดในธุรกิจการตลาดแบบเครือข่ายจะมีหลายแบบมาก ทั้งแบบขั้นบันได แบบไบนารี่ แบบไฮบริด ฯลฯ และเดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ามีพัฒนาการไปมากขนาดไหนแล้ว เอาเป็นว่าแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน

และไม่ว่าอยู่บริษัทไหนก็ตามแต่ หลักการสำคัญคือ การทำยอดขายโดยการขยายทีมงาน ไม่ใช่การขายอยู่คนเดียว

 

 

ข้อเสีย ของธุรกิจเครือข่าย

#1. ยิ่งสูง ยิ่งเหนื่อย

ความยุ่งยากและความเครียดจะมากขึ้น ตามตำแหน่งและรายได้ ให้นึกภาพคล้ายๆ กับคุณเริ่มจากเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ แล้วไต่ระดับขึ้นไปเป็นระดับผู้จัดการแผนก คุณจะมีผู้ใต้บังคับบัญชามากขนาดไหนที่ต้องดูแลและบริหาร

แต่เปรียบกับธุรกิจเครือข่ายแล้ว คนเหล่านั้นก็คือ "ดาวไลน์" หรือคนในสายงานที่เข้ามาทีหลังเรานั่นเอง ตั้งกี่ร้อย กี่พันคน ทั้งคนที่แค่ใช้อยากสินค้าแต่ไม่ต้องการรายได้ และคนที่ทำจริงจังเพื่อหวังสร้างรายได้ ที่เราจะต้องดูแล ผ่านการบริหารทีมลงไปเป็นทอดๆ

และนี่คือที่มาทำไมเราต้องฝึกอบรมให้เป็น โค้ชให้เป็น สอนงานให้เป็น ก็เพื่อบริหารคนในทีมนั่นเอง
หากเราไม่ฝึกสิ่งเหล่านี้ องค์กรก็พร้อมล่มสลาย หรือไม่ก็ไปแบบกระท่อนกระแท่น รายได้ก็จะมาแบบกระท่อนกระแท่น จะบอกว่านั่งอยู่หอคอยเพราะตำแหน่งสูงแล้ว เครือข่ายโตแล้วนี่เห็นทีจะไม่ใช่ การที่จะไปหวัง "การซื้อซ้ำ" แบบออโต้เพราะของดีก็ต้องซื้อซ้ำ เดี๋ยวนี้มันยากขึ้น เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน "ความจงรักภักดีในแบรนด์" มันมีน้อยลง

แค่ตอนนี้ลองสไลด์หน้าจอมือถือ คุณเห็นครีมกี่ยี่ห้อแล้วล่ะ?

#2. ค่าใช้จ่ายแฝง

"ใช้ดี จึงอยากบอกต่อ" แล้วคุณจะไปบอกต่อสภาพไหนระหว่าง "ซอมซ่อ" กับ "ดูดี" เพราะวินาทีแรกที่ลูกค้ามองเรา เขาเห็นแค่การแต่งตัว อาจทำให้เขามโนทะลุไปยันสินทรัพย์และหนี้สินที่เรามีเลยทีเดียว
แล้วเราอยากให้เขาอ่านเราแบบไหน?

ดังนั้น First impression จึงสำคัญ อยู่ที่คุณจะสื่อสารภาษากายเช่นไร นี่จึงเป็นที่มาของการลงทุนในเสื้อผ้า หน้า ผม เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่บ่งบอกไลฟ์สไตล์เรา ซึ่งตอนที่เรายังไม่ได้ทำธุรกิจเครือข่าย (ซึ่งส่วนใหญ่เน้นสินค้าสุขภาพและความงาม) เราจะขายตัวเองแบบซกมกยังไงก็ได้

แต่เมื่อเรา "ทำธุรกิจ" รูปแบบในการแต่งตัวอาจจะต้องดูดีขึ้นมาอีกเลเวล ยังไม่นับรวมค่าเดินทางที่จะมากขึ้น จากเดิมที่มันเป็น Fixed cost ไป-กลับที่ทำงานประจำ แต่พอทำเครือข่ายขายตรง คุณไม่สามารถไปจำกัดได้

บางคนมีรายได้มากขึ้น ก็ดาวน์รถใหม่เพื่อเป็นยานคู่ใจในการทำธุรกิจ ทั้งเดินทางไปสัมมนา เข้าคอร์สอบรมต่างๆ สร้างคอนเน็คชั่น เป็นต้น ทั้งหมดนี้ เราก็ต้องลงทุนเอง มันจะไม่เหมือนทำงานประจำบริษัทใหญ่ๆ ที่ในตำแหน่งสูงๆ บางแห่งจะมีรถประจำตำแหน่งให้

#3. ของปลอมเยอะ

บางบริษัทเปิดใหม่เหมือนจะของจริง ทำไปสักพักเกิดปัญหาภายใน สุดท้ายมีปัญหาด้านการเงิน สะเทือนมายังการจ่ายเงินค่าคอมฯ ให้กับสมาชิก ในที่สุดวงแตก แยกย้ายไปเริ่มต้นที่บริษัทใหม่ นับ 1 ใหม่ทั้งหาลูกค้า ทั้งการเรียนรู้สินค้า และแผนการตลาด

เพราะอะไรของปลอมเยอะ ก็เพราะผู้นำบางคน ไม่อยากกินค่าคอมมิชชั่นแล้ว จึงไปเปิดบริษัทเอง สักพักก็ไม่รอด เพราะไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่ได้มองเรื่องผลกำไรในระยะยาว แต่หวังโกยเงินแค่ระยะสั้น สักพักรวมตัวแม่ทีม หานายทุนได้ เปิดบริษัทใหม่อีก..แต่คนที่ซวยนี่คือสมาชิก

ดังนั้น จะทำบริษัทไหน ต้องเลือกให้ดี วิสัยทัศน์เจ้าของบริษัท นี่สำคัญมาก

ยิ่งในยุคศตวรรษแห่งอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้ "ธุรกิจแชร์ลูกโซ่" แฝงมาในคราบของธุรกิจเครือข่ายได้ง่ายดาย แถมแพร่กระจายได้เร็วยิ่งกว่าไวรัสโคโรนา ทำให้คนที่ไม่มีความรู้ หรือมีความรู้แต่อยากลิ้มลอง เข้าไปในธุรกิจเหล่านี้ สุดท้ายโดนหลอก เป็นข่าวเป็นคราว ทำให้วงการแย่

คนดีๆ ก็มี ธุรกิจเครือข่ายดีๆ ก็ยังมี แต่ที่เสียนี่เพราะคนโลภ ทำให้เสื่อมเสียไปทั้งวงการ

(บทความหน้าจะมาบอกวิธีดูแชร์ลูกโซ่!)

#4. การเข้ามาของผู้เล่นในตลาดง่ายขึ้น ทำตลาดยากขึ้น

ในสมัยก่อน บริษัทเครือข่าย ขายตรง มีไม่กี่แห่ง ที่เราคุ้นชื่อกันก็จะมี แอมเวย์ กิฟฟารีน แต่เดี๋ยวนี้มีมากมายจนนับไม่ถ้วน และบริษัทต่างๆ ที่เปิดใหม่ก็มีทั้งบริษัทข้ามชาติ และบริษัทของคนไทยเอง แต่ละบริษัทก็จะชูจุดเด่นทั้งด้านสินค้าและแผนการตลาด เพื่อดึงดูดสมาชิก

วงการนี้ จึงมีการเข้าๆ ออกๆ ของกลุ่มผู้นำค่อนข้างบ่อย (นั่นหมายความว่าหากคุณเพิ่งเข้าไปทำได้สักพัก คุณอาจกำลังเรียนรู้งานอยู่ดีๆ ปรากฎว่าอัพไลน์คุณที่เคยมาสอนงาน ดันย้ายค่ายหนีไปซะแล้ว) เพื่อโยกไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่าจากแผน (การตลาด) ของบริษัทที่เปิดใหม่ อาจทำให้กระทบต่อขวัญและกำลังใจของลูกทีม ไล่ลงมาเป็นทอดๆ และท้ายสุดลูกทีม อาจจะตัดสินใจย้ายตามผู้นำไป

#5. เพื่อนคุณจะเริ่มน้อยลงโดยอัตโนมัติ

ในช่วงเริ่มต้นของการทำขายตรง หลายคนอาจเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน เราจะเริ่มนึกถึงเพื่อนประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เพื่อนที่ทำงานเก่า เพื่อนที่ทำงานใหม่ เพื่อนมหาวิทยาลัยเก่า มหาวิทยาลัยใหม่ ฯลฯ และท้ายที่สุด คนเหล่านั้นก็ยิ่งห่างเราไป เริ่มไม่อยากรับสายโทรศัพท์เรา

อันนี้ขึ้นอยู่กับศิลปะของแต่ละคนในการเจรจา และการเข้าหาคนซึ่งก็ต้องเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์
แม้ว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถเอาสินค้าไปขายในเฟซบุ๊กได้ ไม่ได้ไปชวนตรงๆ ก็โปรดอย่าลืมว่าคนในเฟซบุ๊กก็ไม่ใช่ใครอื่น คือเพื่อน ญาติเราอยู่ดี การโพสต์ขายของบ่อยๆ เชิญชวนบ่อยๆ อัปสินค้า อัปภาพวิถีชีวิต โชว์กินหรูอยู่ดี บางทีก็ต้องทำด้วยความพอดี อย่าให้ดูมากเกินไปจนเพื่อนเอือมแล้วกด unfriend ชนิดที่คุณไม่รู้ตัว!

#6. แรงกดดันสูง

แน่นอนว่าการพิสูจน์ตัวเอง ให้คนที่บ้านเห็นว่า คุณจะเดินตามฝันในธุรกิจนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายเป็นแน่ โดยเฉพาะคนที่ตัดสินใจทำแบบ "เต็มเวลา" มันไม่ง่ายเหมือนการเป็นลูกจ้าง เพราะระหว่างทาง บททดสอบจะเข้ามามากมาย หลายคนมุ่งมั่นจนลืมคนข้างหลัง มีทั้งเลิกกับแฟน ทะเลาะกับครอบครัว เพราะเส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แต่หากจะลิ้มลองดูบ้าง ในรูปแบบของพาร์ทไทม์ คุณก็จะได้รับประสบการณ์อีกรูป ซึ่งอาจจะไม่โหดเท่ากับการทำเต็มเวลา เพราะคุณสามารถปรึกษาคนที่เขาทำเต็มเวลาได้ตลอด ทั้งเรื่องสินค้า เรื่องการเปิดโอกาสทางธุรกิจ แรงกดดันจึงอาจจะไม่มากเท่า

ท้ายนี้อยากฝากว่าทุกธุรกิจ ทุกอาชีพการงาน ย่อมมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ธุรกิจขายตรงก็เช่นกันมันอยู่ที่เป้าหมายของเราว่าต้องการอะไร อยากมีรายได้เท่าไหร่ อยากทำขำๆ เสริมจากเงินเดือนเราก็จะรับรายได้ขำๆ แหละ แต่ถ้าอยากทำจริงจัง ก็มี "โอกาส" ที่จะรับราย ได้หลักหมื่นหลักแสนเช่นกัน

# สนับสนุนให้คนไทยมีรายได้ทางที่สอง

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ