ไม่มีรายการ

ขอผ่อนจ่ายภาษีแบบ 0% ก็สามารถทำได้นะ....รู้กันยัง?

ขอผ่อนจ่ายภาษีแบบ 0% ก็สามารถทำได้นะ....รู้กันยัง?

21 พฤศจิกายน 2562


 พูดถึงคำว่า “ภาษี” อาจดูจะไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ กับมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเรา ก็ลองคิดดูว่า เงินเดือนออกมายังไม่ทันจะได้กดออกมาใช้ก็โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไปก่อนแล้วจ้ะพี่จ๋า

 

แต่ถ้ามองในอีกมุม ก็ถือว่าดีเหมือนกัน เพราะเปรียบเสมือนการทยอยจ่าย ไม่ต้องมาจ่ายภาษีหนักเกินไปในคราวเดียว ในตอนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี

 

ทำไมเราต้องเสียภาษี?


ก็เพราะเราเป็นประชาชนคนไทย อยู่ภายใต้กฎหมายไทย เราจึงมีหน้าที่เสียภาษี เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีเงินนำไปพัฒนาประเทศชาติ (จริงไหมจ๊ะ)


แต่ถ้าใคร “มีเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการ” เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร นี่เลยค่ะ ไปค้นมาให้ (ตัวเองนี่แหละค่ะ จะได้จำไว้ด้วย) มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ...หนักกว่านั้น หากใคร “จงใจแสดงหลักฐานเท็จ” เพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปีเลยนะ คะพี่น้องงงง

 

เสียภาษีเมื่อไหร่?


เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมของปีถัดไป เช่น ปีนี้ พ.ศ. 2562 เราจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี พ.ศ. 2562 ภายในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2563 แต่อยากจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปแย่งกันยื่นแบบฯ ในเดือนมีนาคมเดือนเดียวนะคะ ทยอยกันได้เลยตั้งแต่เดือนมกราคม ที่สังเกตเห็นจากเพื่อนร่วมงาน ยิ่งยื่นเร็ว ยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็ว (กรณีภาษีที่ชำระไว้เกินกว่าภาษีที่ต้องจ่ายจริงน่ะ)


เพื่อนๆ หลายคนมีรายการลดหย่อนอะไรนี่ก็ใช้สิทธิ์กันแบบจัดเต็ม ได้เงินคืนภาษีมา แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเงินออมกลายๆ เลย เอาไปใช้ซื้อของเล่นให้ลูก ซื้อของขวัญให้ตัวเอง ได้เป็นชิ้นเป็นอัน(ฮ่าๆ)

 

เสียภาษีช่องทางไหนได้บ้าง?


เสียภาษีได้หลายช่องทางมาก สะดวกสบายขึ้นเยอะ บางคนอาจจะไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเสียภาษียังไง เพราะท้ายที่สุด แล้วไม่เคยจะได้จ่ายภาษีเพิ่ม กลับกันมีแต่ “ขอคืนภาษี” เพราะบริษัทหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วตั้งแต่วันเงินเดือนออก แถมระหว่างปีมีลดหย่อนอีกสารพัด วางแผนภาษีกันเก่งมาก สุดท้ายได้เงินคืนภาษีจ้า

 


มาดูกันว่าในกรณีที่จะต้องจ่ายเพิ่ม มีช่องทางชำระภาษีอะไรบ้าง ดังนี้

1. เงินสด

2. บัตรเดบิต

3. บัตรเครดิต

4. บัตร TAX SMART CARD บัตรนี้จะใช้ผ่านเครื่องรูด/สอดบัตร ( EDC) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

5. เช็ค หรือดราฟต์

6. ธนาณัติ

 

มาถึงหัวข้อถัดไปซะที พล่ามไปซะยืดยาว...กรณีที่เราจะต้องเสียภาษีแต่ว่าเราอาจจะยังขี้เหนียวอะนะ อยากเอาตังค์ไปใช้อย่างอื่นก่อนก็เพราะของมันต้องมี ไอ้นู่น ไอ้นี่ก็อยากจะซื้อ ทีนี้จะขอผ่อนได้ไหมสรรพากรจ๋า คำตอบคือ “ได้จ้ะ”!

 

ผ่อนจ่ายภาษี 0% ได้จริงเหรอ?!..ต้องเท่าไหร่ถึงทำได้

 

ตามกฎหมายบอกว่า...

 

"ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ ขอผ่อนจ่ายภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ"

 

ขออธิบายเพิ่มอีกนิดคำว่า “ภาษีครึ่งปี” ที่ขีดเส้นใต้ไว้ข้างบนในโควต หมายถึง ผู้ที่มีเงินได้จากทางอื่นด้วย(ไม่ใช่แค่เงินเดือน)คือมีเงินได้ประเภทที่ 5-8 ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) และสิ้นปี(ภ.ง.ด.90) หรือยื่น 2 ครั้ง แต่ถ้ามีเงินได้ประเภทที่ 1 อย่างเดียวคือ “เงินเดือน” จะยื่นภาษีแค่ครั้งเดียวตอนสิ้นปี (ภ.ง.ด.91) ค่ะ

 

เงินได้ประเภทที่ 5-8 มีอะไรบ้างงงง เช่น เช่น เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น

 

อ่านเพิ่มเติม : ลักษณะเงินได้ (พึงประเมิน) แยกตามกลุ่ม

เอาล่ะ! เมื่อคำนวณแล้วพบว่า มีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นภาษีครึ่งปีหรือภาษีสิ้นปี ให้เราติดต่อขอผ่อนชำระได้ ดังนี้

 

1. สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ดูให้ดีนะคะแบบเอกสารที่กรอก ถ้ากรอกผิดชีวิตจะวุ่นวายมาก งาน นี้ให้ใช้แบบ “บ.ช. 35” จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกันดังนี้

• งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม

• งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1

• งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

 

ทำไมเราต้องเสียภาษี? ก็เพราะเราเป็นประชาชนคนไทย อยู่ภายใต้กฎหมายไทย เราจึงมีหน้าที่เสียภาษี เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีเงินนำไปพัฒนาประเทศชาติ

 

2. กรณียื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบจะคำนวณวันที่ ที่เราต้องชำระทั้ง 3 งวดให้เราก็ดำเนินการชำระให้ตรงเวลา ขอย้ำว่า “ต้องตรงเวลา” เราจะไม่ทำตัวเป็นเอ็นพีแอลกันน๊า เพราะไม่เช่นนั้น เราจะเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือนาจา

 

เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า...

 

“ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็น รายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ”

 

ฝากไว้สุดท้ายนะคะ การบริหารจัดการเรื่องการเงินของแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน จริงๆ แล้ว ถ้ามันแค่ 3,000 บาทหน่อยๆ ก็จ่ายๆ ไปเถอะ บทความนี้ผู้เขียนแค่อยากจะบอกให้ทราบว่ามันมีวิธีนี้อยู่ด้วยนะ อย่างน้อยก็ทุเลาเบาบาง บางทีเวลาเดือดร้อนเงินขึ้นมา ถ้าเกิดว่ามันมีโซลูชันไหนที่บรรเทาให้เราได้..ก็ไม่เลว


ที่สำคัญตัดจ่ายผ่านบัตรเครดิต ก็ยิ่งขยายเวลาการชำระ คุณก็จะพอมีเวลาในการหมุนเงินสดไปอีกหน่อย การควักเงินออกจากกระเป๋าให้ช้า อาจเพิ่มโอกาสในการหายใจ

 

แต่ถ้าไม่เดือดร้อนอะไร ชำระภาษีให้ไวก็น่าจะดีกว่านะค้าาา ^_^
------------------
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.rd.go.th/publish/561.0.html

https://www.rd.go.th/publish/560.0.html

https://www.rd.go.th/publish/562.0.html

------------------

ดาวน์โหลดติดตั้งแอปฯ Lumpsum ได้แล้วที่นี่
iOS
Android

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ