ไม่มีรายการ

เรื่องต้องรู้ "กองทุนรวม" ซื้อแล้วทำไมติดลบทันที
25 กุมภาพันธ์ 2564
มือใหม่หลายคนตกใจว่าทำไมซื้อกองทุนแล้วติดลบทันที
ไม่ต้องตกใจครับ เพราะเป็นเรื่องปกติที่หาคำตอบได้
ทันทีกองทุนที่เราซื้อได้รับการอนุมัติ ถูกจัดสรรเข้าพอร์ตการลงทุน จะเห็นตัวเลขติดลบ นั่นก็เพราะว่าเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Front-endซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน ถูกเก็บตอนเราซื้อ (กองทุนขายหน่วยลงทุนให้เรา)
ตัวอย่างที่ 1
ตัวอย่างที่ 2
อย่างในรูปตัวอย่างที่ 1 กองทุนนี้เก็บค่าธรรมการขาย 0.5% เมื่อซื้อ 1000 บาท ก็ย่อมเหลือมูลค่า 995 บาท ส่วนตัวอย่างในรูปที่ 2 กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมการขาย 1.5% ที่จริงมูลค่าควรจะเหลือ 985 บาท แต่ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบได้ กลับถูกเก็บจริงเพียง 1.48% ก็คือถูกเก็บน้อยลง ซึ่งเราได้ประโยชน์ ก็ไม่ต้องโวยวายเนอะ หากเก็บสูงเกินจริงเราค่อยโวยวาย จะได้ไม่เหนื่อย 55+
กองทุนรวมไม่ได้มีเพียงค่าธรรมเนียมการขายเท่านั้น แต่ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ที่เราต้องไปทำความรู้จัก เพราะเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา หากจะลงทุนในกองทุนรวม
ค่าธรรมเนียมกองทุนมีอะไรบ้าง?
หากยึดตามหนังสือชี้ชวน ค่าธรรมเนียมในการลงทุนกองทุนรวมแบ่งได้ 2 แบบ คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม
1. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย เป็นค่าธรรมเนียมที่ บลจ. จะเก็บจากนักลงทุนโดยตรง จะเกิดขึ้นตอน “ซื้อ” หรือ “ขาย” หน่วยลงทุน โดยจะเก็บเป็น % ของมูลค่าซื้อขาย คิดรวมเข้าไปในราคา NAV ที่ บลจ. แจ้งให้ทราบตอนยืนยันคำสั่งซื้อขาย
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย
Front-end = ค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน จะถูกเก็บตอนเราซื้อ (กองทุนขายหน่วยลงทุนให้เรา)
Back-end = ค่าธรรมเนียมซื้อคืนหน่วยลงทุน จะถูกเก็บตอนเราขาย (กองทุนซื้อหน่วยลงทุนคืนจากเรา)
Switching-in = ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนเข้า จะถูกเก็บตอนซื้อกองที่ย้ายมาจากกองอื่นใน บลจ. เดียวกัน
Switching-out = ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนออก เก็บตอนขายกองเพื่อย้ายไปกองอื่นใน บลจ. เดียวกัน
Exit Fee = ค่าธรรมเนียมขายออกก่อนเวลาที่กำหนด บางกองทุนจะกำหนดระยะเวลาถือกองทุนขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้การซื้อขายถี่ ๆ มารบกวนการบริหารกองทุน ถ้าเราซื้อแล้วขายออกก่อนเวลาที่กำหนดก็จะถูกหักค่าธรรมเนียม
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยของกองทุน SCBCHA (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563)
จากตัวอย่างในรูปข้างต้นจะเห็นว่ากองทุน SCBCHA เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตอนที่เราซื้อกองทุนเท่านั้น จะไม่เก็บตอนขายคืน กลับกันหากกองทุนไหนเรียกเก็บเฉพาะตอนที่เราขายคืน ก็มักจะไม่เก็บตอนที่เราซื้อเช่นกัน กล่าวคือ โดยปกติกองทุนมักจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 2 ตัวนี้พร้อมกัน
2. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม เป็นค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนจะไม่ถูกเรียกเก็บโดยตรง แต่กองทุนจะหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้ออกจากมูลค่า NAV ของกองทุน ที่คำนวณทุกวัน โดย % ค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะเป็น % ต่อปี จึงต้องถูกหารด้วย 365 เพื่อคิดเป็น % ต่อวัน แล้วนำไปหักออกจาก NAV วันต่อวัน
ตัวอย่าง กองทุน ABC เก็บค่าบริหารจัดการปีละ 2% แสดงว่ากองทุนนี้จะหัก NAV ออกไปวันละ 2%/365 = 0.00548% โดยจะหักไปพร้อมกับการคำนวณมูลค่า NAV ณ สิ้นวัน
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม
Management Fee = ค่าธรรมเนียมการจัดการ เป็นค่าใช้จ่ายที่ บลจ. เรียกเก็บจากการบริหารเงินลงทุนของกองทุนให้ผู้ถือหน่วย ค่าธรรมเนียมส่วนนี้เป็นค่าแรงของทีมผู้จัดการกองทุน ที่มีหน้าที่บริหารเงินให้เรา จะแตกต่างไปตามความยากง่ายในการบริหาร เช่น กองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้นมีค่าธรรมเนียมการจัดการสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากการบริหารกองทุนมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่า
Trustee Fee = ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเรียกเก็บจากกองทุนรวม จากการมีหน้าที่รับรองราคา NAV ให้ถูกต้อง และควบคุมให้กองทุนดูแลผลประโยชน์นักลงทุนตามนโยบาย
Registrar Fee = ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การจ่ายเงินปันผล
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมของกองทุน SCBCHA (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563)
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมจะต่างจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย ที่จะถูกเรียกเก็บตอนซื้อหรือขายเพียงครั้งเดียว แต่ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมจะถูกเก็บทุกวันโดยหักจาก NAV นั่นหมายความว่า ค่าธรรมเนียมส่วนนี้เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ควรเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมต่ำเมื่อเทียบกับผลการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนว่าเราขาดทุนทุกวัน
หลักการเลือกกองทุนรวมจากค่าธรรมเนียม
- หลีกเลี่ยงการซื้อขายกองทุนบ่อยเกินไป โดยเฉพาะกองที่มีค่าธรรมเนียมซื้อขายสูง กองทุนรวมจึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาว ไม่เหมาะกับการเก็งกำไรระยะสั้น
- อย่าเห็นแก่ค่าธรรมเนียมถูก ต้องดูที่ผลตอบแทนเป็นหลัก เพราะค่าธรรมเนียมควรจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่กองทุนรวมนั้น ๆ ทำได้
- ค่าธรรมเนียมต้องเปรียบเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น เพราะกองทุนแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายในการบริหารแตกต่างกัน
- สำหรับกองทุนรวมหุ้น ถ้ามีกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) ที่ผู้จัดการกองทุนเลือกหลักทรัพย์และจัดน้ำหนักการลงทุนในลักษณะเดียวกับดัชนีอ้างอิง เช่น SET50 Index มักจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการน้อยกว่าแบบเชิงรุก (Active Fund) ที่มุ่งให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหรือดัชนีอ้างอิง ดังนั้น จึงต้องระวังในการเลือก Active Fund ที่เก็บค่าธรรมเนียมแพงแต่ทำผลงานไม่คุ้มค่า
ก่อนจะลงทุน “กองทุนรวม” ต้องรู้เรื่อง “ค่าธรรมเนียม” ซึ่งสามารถหาอ่านได้ในหนังสื่อชี้ชวน (Funf fact sheet) ซึ่งนอกจากค่าธรรมเนียมแล้ว ยังมีข้อมูลอื่นที่ควรรู้อยู่ในนี้อีกด้วย ซึ่งตอนหน้าเราจะมาดูกันครับว่าต้องอ่านอะไรในหนังสือชี้ชวน