ไม่มีรายการ

"กองทุนรวม" จุดเริ่มต้นง่าย ๆ ของมือใหม่
13 มกราคม 2564
...ในวันที่เพื่อนสาวอยากส่งต่อความรู้เรื่อง “กองทุนรวม”
เพื่อนสาว : นี่เธอ พอดีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ลุงป้าน้าอา ที่วงฝึกคณิตศาสตร์โอลิมปิค เขาเห็นว่าชั้นเริ่มลงทุน จนมีเงินไปลงเรียนคอร์สใหญ่คณิตศาสตร์สม่ำเสมอ ก็เลยถามกันใหญ่เลยว่า ลงทุนอะไรยังไงบ้าง ช่วยชั้นหน่อยซิ ว่าควรเริ่มอะไรยังไงก่อนดี
น้องโน่ : ดีออก!! ช่วงนี้ขาขาดมั้ย
เพื่อนสาว : ขาดไปขานึง กลัวโควิด เอ้ย!! ไม่ใช่
น้องโน่ : ไม่ทันละดีออก เพลา ๆ ลงบ้าง ช่วงนี้หยุดได้ก็หยุดไปก่อน มันเสี่ยงโควิด
เพื่อนสาว : คนกันเอง ขาประจำ ไม่มีปัญหาหรอก
น้องโน่ : เห็นข่าวยัง ระบาดรอบล่าสุดมาจากไหน หึหึ
เพื่อนสาว : เออน่า ตอบที่ชั้นถามมาก่อน
น้องโน่ : แกนี่นะ เฮ้อออออออ
มือใหม่ควรเริ่มที่ “กองทุนรวม” เพราะเป็นการลงทุนที่ครอบคลุมและเริ่มต้นได้ง่ายที่สุด
ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก “กองทุนรวม” กันก่อน
“กองทุนรวม” เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การลงทุนสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย เพราะกองทุนรวมสามารถลงทุนได้ในทุกสินทรัพย์ที่มีอยู่ใบโลกใบนี้ ตามนโยบายที่เขียนไว้ชัดเจนของแต่ละกองทุน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด
หลักการของ “กองทุนรวม” ก็ง่ายมาก
“กองทุนรวม” เป็นการระดมทุน หรือรวบรวมเงินของแต่ละคนหรือองค์กร มาเป็นเงินก้อนใหญ่ จากนั้นก็จะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนแทนเราในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายที่ได้บอกไว้
โดยคนที่นำเงินไปลงทุน หรือบริหารจัดการก็คือ “ผู้จัดการกองทุน” ส่วนเราที่ลงทุน ก็เรียกว่า “ผู้ถือหน่วยลงทุน” โดยจะถือตามสัดส่วนเงินที่ลงทุนไป
ในวันที่กองทุนเติบโต ก็จะนำผลตอบแทนที่ทำได้มาเฉลี่ยคืนตามสัดส่วนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งกำไร/ขาดทุน ตามผลงานที่กองทุนนั้นทำได้
สิ่งที่เราจะได้ตามสัดส่วนการลงทุน คือ “หน่วยลงทุน” โดยจะมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ราคา NAV เป็นตัวบ่งบอกมูลค่า
เช่น กองทุนร่ำรวยเงินทอง มีราคา NAV 10 บาท เราลงทุนหรือซื้อไป 1,000 บาท เราก็จะได้หน่วยลงทุน 100 หน่วย
สมมติว่า 1 ปีข้างนอก ราคา NAV ของกองทุนนี้ ขยับขึ้นไป 12 บาท ถ้าเราขายคืนก็จะได้เงิน 12 x 100 = 1,200 บาท ได้กำไร 200 บาท หรือ 20% นั่นเอง
“ผู้จัดการกองทุน” คือใคร?
ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) คือ มืออาชีพที่เข้ามาดูแล บริหารเงินให้กับนักลงทุนเต็มเวลา เพื่อแลกกับค่าธรรมเนียม
ปัจจุบันมีผู้จัดการกองทุนในประเทศเพียงแค่ 853 คน (อ้างอิงจาก https://market.sec.or.th)
แต่กลับต้องดูแลกองทุนรวมที่มีมูลค่ามหาศาลในหลักล้านล้านบาท
และกว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ
1. ต้องผ่านการสอบ Chartered Financial Analyst หรือที่คุ้นหูกันว่า CFA หรือ Chartered Investment and Securities Analyst (CISA) ระดับที่หนึ่ง
2. ต้องมีประสบการณ์ลงทุนหรือการวิเคราะห์การลงทุนอย่างน้อย 2 ปี
การสอบ CFA หรือ CISA ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใช้ทั้งเวลาอ่านหนังสือ (อย่างน้อยก็ 1 ปีครึ่งหรือ 2 ปี) และเงินสำหรับค่าสมัครสอบพอสมควร
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจาก “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” อีกด้วย ไม่ใช่แชร์ ต้มตุ๋น ไก่กาอาราเร่แน่นอน
ด้วยหลักการแสนง่ายของกองทุนรวม จึงช่วยขจัดปัญหาเรื่องเงินทุน (ทุนน้อย) ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก
เพราะเงินหลักร้อย หลักพันก็สามารถลงทุนกองทุนรวมได้แล้ว (ปัจจุบัน บาทเดียวก็ลงทุนได้) มีผู้เชี่ยวชาญดูแล จัดการ บริหารเงินแทนเรา แถมมีหน่วยงานกำกับดูแลเข้มงวด เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงอย่างแน่นอน
น้องโน่ : ไหนเธอลองสรุปให้ชั้นฟังหน่อย ว่ากองทุนรวมง่ายยังไงสำหรับมือใหม่
เพื่อนสาว : ชั้นสรุปได้ดังนี้
หลักการของกองทุนเป็นเหมือนโรงงานที่พร้อมรับจ้างผลิตสินค้าให้เรา ตามแต่ว่าเราจะจ้างให้ผลิตอะไร (การเลือกกองทุนแต่ละกอง)
โรงงานดูแลทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จ บอกสเปควัตถุดิบทุกอย่างว่าใช้อะไรบ้าง (กองทุนนั้นลงทุนอะไรบ้าง)
การคิดราคาที่ชัดเจน (จัดสรรหน่วยลงทุนตามสัดส่วนที่ลงทุน / ราคา NAV)
ที่เหลือให้เราต้องไปทำการบ้านอีกนิดหน่อย คือทำความเข้าใจกระบวนการ ความเสี่ยง และลักษณะของสินทรัพย์ที่เราลงทุน
น้องโน่ : เริ่ดมากลูกสาว ชั้นภูมิใจในตัวเธอ!! แต่ยังไม่หมดนะ ยังมีอีกอย่างที่ง่ายสำหรับการลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” นั่นคือ กระบวนการซื้อขายกองทุนรวม แต่ชั้นขอติดไว้ก่อนนะ ไว้มาบอกคราวหน้าอย่างละเอียดเลย ตั้งแต่การเปิดบัญชี ไปจนถึงการซื้อขาย
เพื่อนสาว : โอเคจ้า ^^
น้องโน่ : ช่วงนี้ก็หยุดฝึกคิดเลขโอลิมปิคไปก่อนละ รอวัคซีนโควิดมาก่อน
เพื่อน : จ้ะ (ยิ้มอ่อน)
สรุป!!
“กองทุนรวม” แม้มีเงินน้อย หลักร้อยหรือหลักพันก็ลงทุนได้
ผลตอบแทนสะท้อนความเสี่ยงที่กระจายอยู่ให้เลือกหลายระดับ
ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ปานกลางและสูง ตามความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการลงทุน ที่สำคัญมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาช่วยดูแลพอร์ตการลงทุนให้เรา และมีหน่วยงานคอยกำกับดูแลอย่างเข้มงวดอีกด้วย