ยานพาหนะถือจัดว่ามีสำคัญต่อการดำรงชีวิต
เพราะใช้ เดินทางและประกอบอาชีพ
ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ ยันรถบรรทุก
ล้วนมีราคาค่างวดกันทั้งนั้น
ตามรูปแบบ สมรรถนะ และยี่ห้อ
และส่วนมากมักจะไม่ซื้อเงินสดกัน
ปกติก่อนซื้อรถจะดูอะไร
รุ่น-ยี่ห้อ ที่ชอบ
รูปแบบรถ
ความสวยงาม
ราคา
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคุณสมบัติของรถทั้งสิ้น
แต่เคยมีใครคิดถึงข้อควรรู้จริง ๆ ก่อนซื้อรถบ้าง
อะมาดูกันว่าต้องรู้อะไรบ้างนอกจากสเปกรถ
1. ซื้อมาเพื่อ เพิ่มหรือลดภาระ
จำเรื่องหนี้ดี หนี้เลว ได้ไหม
หากซื้อมาเพื่อที่แบบของมันต้องมี
ไม่ได้จำเป็นต้องใช้จริง ๆ อย่าซื้อ
เพราะมันคือการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย
แต่หากซื้อมาเพื่อใช้เดินทางทำงาน
ใช้ทำมาหากิน สร้างรายได้ ก็จัดไป
หากไม่ได้จำเป็น ระบบขนส่งสาธารณะดีกว่า
2. มูลค่ารถและภาระหนี้สิน
เหมาะสมกับรายได้-รายจ่ายหรือไม่
อย่าซื้อรถที่ราคาเกินตัว เพื่อความเท่
หากจะซื้อด้วยเงินสด ราคาต้องไม่เกิน 20% ของสินทรัพย์ที่มี
หากจะผ่อน ต้องรู้จักวิธีคิดดอกเบี้ย-ค่างวด
ดอกเบี้ยที่ซื้ออัตราเท่าไหร่ ตลอดระยะผ่อนต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ คุ้มไหม
และภาระหนี้รถเมื่อรวมกับหนี้อื่นต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน
ที่สำคัญต้องมั่นใจว่ามีเงินสำรองในการผ่อนชำระล่วงหน้า
อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป...
อย่ามักง่าย ซื้อมาก่อน ผ่อนไงค่อยว่ากัน ไม่ดีเลย
3. ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
รถไม่ได้ซื้อทีเดียวแล้วจบ
ต้องมีค่า พ.ร.บ.-ประกัน
ค่าต่อทะเบียนายปี
ค่าบำรุงรักษา
ค่าน้ำมัน
ค่าทางด่วน
ค่าที่จอดยันค่าล้างรถ
ต้องประเมินให้แตก
คิดไว้เลยว่าต่อปีค่าใช้จ่ายเหล่านี้มูลค่าเท่าไหร่
มีกำลังเพียงพอในการจัดการหรือไม่
หากก่อนซื้อรถยังไม่ได้ประเมินถึงเรื่องเหล่านี้
อย่ารีบซื้อเลยดีกว่า เพราะ...
ซื้อรถ มูลค่าหดลงเรื่อย ๆ
ใช่ครับ รถ เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าเสื่อมสภาพ
มูลค่าจะลดลงทุกปี ที่สำคัญลดลงทันทีที่ซื้อ
ไม่เชื่อลองถอยรถป้ายแดงมาสิ
ใช้ไปแค่ 1-2 วัน ราคาก็จะลดลงเฉลี่ย 20% ทันที
เมื่อเอาไปขายต่อ จะกลายเป็นรถมือสองไปโดยปริยาย
แม้จะใช้ไปนิดเดียวก็ตาม
ไม่พอนะครับค่าเสื่อมนี้
จะลดมูลค่ารถเราลงเฉลี่ยปีละ 10-15% แล้วแต่ รุ่น-ยี่ห้อ-ปีที่ซื้อ
และจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่มีมูลค่าในทางบัญชี แม้จะยังขับได้ก็ตาม
อาจจะขายได้ แต่คุณจะไม่อยากขายแน่ หากรู้ราคารับซื้อ
เว้นแต่วิ่งไม่ได้ กลายเป็นเศษเหล็ก ขายไปคงดีกว่าปลูกสะระแหน่
ดังนั้นก่อนซื้อคิดให้ดี คิดให้หนัก คิดให้รอบคอบ ว่าจำเป็นไหม
การคิดดอกเบี้ยรถ
คราวนี้เป็นความรู้ทางเทคนิค
เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถ
ไม่ยากครับ...
ดอกเบี้ยรถปกติจะคิดแบบอัตราคงที่ (Flat rate)
คือคำนวณดอกเบี้ยรวมเงินกู้แล้วค่อยหารเป็นค่างวด
ดังนั้นแม้จะจ่ายก่อน ปิดบัญชีเร็ว ก็ไม่มีผลให้ดอกเบี้ยลด
ที่ต้องใช้วิธีนี้ เพราะ รถมันมีค่าเสื่อมนั่นเอง
ให้ผ่อน 20-30 ปี แบบบ้านคงไม่ได้
วิธีคำนวณดอกเบี้ยประเภทนี้
ให้เอาราคารถ - เงินดาวน์
เหลือเท่าไหร่จะเรียกว่า "ยอดจัด"
หรือยอดเงินกู้จริงนั่นแหล่ะ
จากนั้นเอา "ยอดจัด" x "อัตราดอกเบี้ย" หารด้วยจำนวนปีที่ผ่อน
ก็จะได้ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดตลอดสัญญา
จากนั้นเอาดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดมารวมกับ "ยอดจัด"
แล้วหารกับจำนวนเดือนที่ผ่อน ก็จะได้ค่างวดต่อเดือน
ยกตัวอย่างเพื่อแทนสูตรได้ดังนี้
รถราคา 1,000,000 บาท
วางเงินดาวน์ 25%
เท่ากับ 1,000,000 - 250,000 = 750,000
ยอดจัดเท่ากับ 750,000 บาท
สินเชื่อเช่าซื้อนี้คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี
จากนั้นเอา 750,000 x 4% = 30,000
ดังนั้นดอกเบี้ยจะเท่ากับ 30,000 บาท/ปี
สมมติผ่อน 5 ปี ดอกเบี้ยจ่ายรวมจะเท่ากับ 30,000 x 5 = 150,000
ดอกเบี้ยจ่ายรวม 5 ปี เท่ากับ 150,000 บาท
จากนั้นนำยอดจัดรวมกับดอกเบี้ยจ่ายรวมตลอดสัญญา
เท่ากับ 750,000 + 150,000 = 900,000 บาท
จากนั้นเอา 900,000 หาร 60 เดือน = 15,000
ค่างวดรถของเราคือ 15,000 บาทต่อเดือน
เมื่อเราได้ค่างวดต่อเดือน
ก็สามารถนำไปประเมินได้ว่า
ศักยภาพการผ่อนรถคันนี้เป็นอย่างไร
รวมกับหนี้อื่น ๆ แล้วเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือนหรือไม่
หากเกินก็ควรเปลี่ยนรุ่น-ยี่ห้อ หาราคาที่ถูกกว่า
หรือหากมีเงินดาวน์มาก ก็ใส่เข้าไป
เพราะจะลดดอกเบี้ย-ค่างวดได้
แต่...ห้ามดาวน์ต่ำกว่า 25% เด็ดขาด
ยิ่งพวกโปรออกรถ 0 บาท ไม่ต้องดาวน
ดอกเบี้ยจ่ายจะมหาศาลมาก
แม้จะให้ผ่อนได้นาน เป็น 6-7 ปี
แต่ยิ่งนานยิ่งดอกเบี้ยจ่ายเยอะ
ขณะที่รถมีค่าเสื่อมสภาพลงทุกปี
คำนวณให้ดี อย่างรอบคอบ
ซื้อเท่าที่มีกำลัง และจำเป็น
ผ่อนรถไม่ไหวต้องเจอกับอะไรบ้าง
หากท่านดื้อซื้อรถเกินกำลัง
แล้วมีปัญหาสภาพคล่องขึ้นมา
ชำระค่างวดไม่ตรงเวลา ขาดส่ง
คุณจะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้....
1. ค่าติดตามทวงถาม-เบี้ยปรับ
ค่าติดตามทวงถามเริ่มต้น 200 บาทต่องวด
ค่าเบี้ยปรับตามสัญญา (แต่ละที่ไม่เท่ากัน)
สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่างวด งวดที่ค้าง
คูณด้วยจำนวนวันที่ค้าง
2. ขาดส่งเกิน 4 เดือนโดนยกเลิกสัญญา
เมื่อเราค้างจ่ายเกิน 3 งวด
นอกจากโดนค่าปรับและค่าติดตามทวงถามแล้ว
ไฟแนนซ์จะแจ้งมาให้ไปจ่ายภายใน 30 วัน
ซึ่งหากไปจ่ายก็จบกัน
แต่...หากไม่จ่าย ครบ 30 วันไฟแนนซ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที
และสามารถยึดคืนรถ เพื่อนำมาขายทอดตลาดได้
3. โดนยึดรถ หาใช่หมดหนี้
แม้จะโดนยึดรถไปแล้ว ยังอาจจะมีหนี้ต้องชำระอีก
เช่นมีหนี้คงค้าง 500,000 บาท
แต่ไฟแนนซ์ยึดรถไป ขายทอดตลาด
แน่นอนเขาไม่ขายให้ได้ราคาดีที่สุด
แต่จะขายให้ได้ไวที่สุด
ดังนั้นหากไฟแนนซ์ขายทอดตลาดได้ 300,000 บาท
คุณก็จะโดนตามเก็บหนี้ส่วนต่างที่เหลืออีกอยู่ดี
เหล่านี้คือสิ่งที่คุณจะต้องเจอ
หากซื้อรถเกินกำลังที่เหมาะสม
ดังนั้นคิดให้ดีนะครับ
จำเป็นไหม เหมาะสมไหม