ไม่มีรายการ

กองทุนรวม จ่ายปันผลกับไม่จ่ายปันผล ลงทุนกองทุนรวมแบบไหนดี?
31 มีนาคม 2564
ปลูกพืชหวังดอกผลฉันใด ลงทุนก็ย่อมหวังกำไรฉันนั้น
กำไรคือรูปแบบหนึ่งของผลตอบแทนจากการลงทุน
นั่นหมายความว่าในโลกของการลงทุนไม่ได้มีเพียงแค่กำไรเท่านั้นที่เป็นผลตอบแทน แต่ยังมีผลตอบแทนรูปแบบอื่นด้วย นั่นคือ “ปันผล”
สำหรับการลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” หากแบ่งผลตอบแทนออกเป็นทางตรงกับทางอ้อม จะแบ่งได้ดังนี้
1. ผลตอบแทนทางตรง
- ส่วนต่างราคา (กำไร/ขาดทุน)
- ปันผล
2. ผลตอบแทนทางอ้อม
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี
มาขยายความกันหน่อยนะครับ
ส่วนต่างราคา
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น ในวันที่เราลงทุนก็ย่อมหวังผลตอบแทน โดยการลงทุนในกองทุนรวมนั้น หากเราซื้อ เราจะได้สิ่งที่เรียกว่าหน่วยลงทุน ซึ่งจะมีราคากำกับ ราคาที่ว่านี้คือ มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ หรือ NAV (ขอเรียกว่าราคา NAV) โดยราคา NAV จะคำนวณทุกวันทำการจากสินทรัพย์รวมที่นำมาเฉลี่ยกัน ฉะนั้น กำไร/ขาดทุน จากส่วนต่างราคาจึงมาจากการขยับของราคา NAV
ดังนั้น เวลาที่เราซื้อกองทุนรวม แน่นอนว่าเราต้องคาดหวังว่าสินทรัพย์ในกองทุนรวมนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่ม หรือราคา NAV ขยับ จนเรามีกำไรนั่นเอง
การจ่ายเงินปันผล
กองทุนรวมสามารถแบ่งตามประเภทการจ่ายเงินปันผลได้ 2 แบบ คือ กองทุนรวมแบบจ่ายปันผล และกองทุนรวมแบบไม่จ่ายปันผล โดยปันผลมาจากการเติบโตของสินทรัพย์ในกองทุนรวม เมื่อกองทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือมีกำไรเพิ่มขึ้น แล้วนำกำไรส่วนหนึ่งมาแบ่งจ่ายเป็นเงินปันผลนั่นเอง
สิทธิประโยชน์ทางภาษี
การลงทนในกองทุนรวม SSF (Super Saving Funds) และ RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย แต่มีรายละเอียดการลดหย่อนและเงื่อนไขค่อนข้างมาก จึงควรศึกษาให้ดีก่อนลงทุน เพราะถ้าผิดพลาดอาจถูกเรียกเก็บภาษีคืนย้อนหลังได้
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ควรถูกนำมาคำนวณเป็นผลตอบแทนด้วย (ถึงแม้จะเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมก็ตาม) เพราะเงินคืนจากภาษีหรือส่วนลดหย่อนภาษีนั้นก็เป็นเงินเช่นเดียวกัน แน่อนว่าเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องเสียภาษีบุคคลอยู่แล้ว
จากการขยายความข้างต้น ผลตอบแทนจากการลงทุนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนต่างราคา ปันผล และสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยส่วนต่างราคา ไม่ว่าจะลงทุนกองทุนประเภทไหนก็ได้เหมือนกันหมด คือ มีกำไรหรือขาดทุน ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องเสียภาษี โดยที่ยังต้องการสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม จึงมีคำตอบอยู่ในตัวเองอยู่แล้วว่าใครเหมาะกับกองทุน SSF/RMF (แม้เรามีฐานรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่อยากลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF ก็ลงทุนได้เช่นกัน เพียงแต่จะไม่ได้ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแค่นั้นเอง)
ขณะที่การจ่ายเงินปันผล ผลตอบแทนตรงนี้แหละที่มาซึ่งคำถามว่าเราควรเลือกลงทุนกองทุนรวมแบบไหนดี จ่ายหรือไม่จ่ายปันผล?
เงินปันผลของกองทุนรวมมาจากมูลค่าสิทรัพย์ของกำทุนรวมที่เพิ่มขึ้น หรือกองทุนมีกำไรนั่นเอง แล้วนำนั้นมาจ่ายเป็นปันผล เงินปันผลที่จ่ายออกมา ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนลดลง ราคา NAV จึงมักต่ำกว่ากองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล ขณะที่กองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล จะนำกำไรที่เพิ่มขึ้นไปลงทุนต่อ มูลค่า NAV จึงเพิ่มขึ้นตามมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น
กองทุนรวมที่จ่ายปันผลจะเน้นการสร้างกระแสเงินสดให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ต้องการรายได้ระหว่างลงทุน (เป็นรายได้ที่เรียกว่า Passive income) ส่วนกองทุนรวมแบบไม่จ่ายปันผลจะนำผลกำไรไปลงทุนต่อเพื่อให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา NAV ในระยะยาว
สามารถเขียนสรุปเป็นตารางได้ดังนี้
สรุป!! กองทุนที่จ่ายปันผลหรือไม่จ่ายปันผล บอกไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุนว่าหวังมีรายได้แบบ Passive income ระหว่างที่ลงทุน หรือเก็บไว้ขายทำกำไรจากส่วนต่างราคาในอนาคต