ไม่มีรายการ

ตายแล้ว...หนี้ไปไหน ?

ตายแล้ว...หนี้ไปไหน ?

28 กุมภาพันธ์ 2563


 มาต่อกันจากเรื่อง "ตายแล้ว...เงินไปไหน" เมื่อสัปดาห์ก่อน

พ่อเพื่อนผมที่เสียชีวิตไปมีสินทรัพย์มากโขเลยเนอะ

 

1. ที่ดินทองหล่อ 40 ไร่

2. เงินสดในธนาคาร 8 ล้านบาท

3. มีกรมธรรม์ประกันชีวิตมูลค่า 2 ล้านบาท

4. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมูลค่า 1 ล้านบาท

 

ลูก 4 คน แบ่งตามสิทธิโดยธรรมและพินัยกรรมได้ดังนี้

 

คนโต : ที่ดิน 10 ไร่ + เงินสด 2 ล้านบาท

คนกลาง : ที่ดิน 10 ไร่ + เงินสด 2 ล้านบาท (เพื่อนผมเอง ^^)

คนเล็ก : ที่ดิน 10 ไร่ + เงินสด 2 ล้านบาท

ลูกบุญธรรม : ที่ดิน 10 ไร่ + เงินสด 2 ล้านบาท + เงินประกันชีวิต 2 ล้านบาท + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 1 ล้านบาท

(สงสัยลูกบุญธรรมนี่คงทำดีไว้เยอะเนอะ พ่อเลยจัดเต็ม ฮ่า ๆ)

 

แต่ผ่านไป 1 เดือน ดันมีเจ้าหน้าที่แบงก์มาบอกว่า "พ่อมีหนี้อยู่ 20 ล้านบาท !"

เป็นหนี้เอาที่ดินไปจำนองไว้เพื่อขอกู้เงินสด 15 ล้านบาท

และเป็นหนี้สินเชื่อเงินสดแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5 ล้านบาท

มารู้ตอนหลังว่าพ่อมีอีกบ้านหนึ่ง และนำเงินก้อนนี้ไปให้ก่อนจะตาย

เหมือนพ่อจะรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าใกล้ถึงเวลา...


เอวัง...เลยทีนี้

เอาจากใครล่ะ ฟ้องใคร ใครต้องจ่ายบ้าง

 

จากการสอบถามนักกฎหมายและหาข้อมูลพบว่า...

 

1. หากสินทรัพย์มรดกข้างต้นยังไม่ได้แบ่ง

แบงก์สามารถร้องศาลขออายัดสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้หมดก่อนถึงจะแบ่งได้

โดยอาจจะนำที่ดินจำนองขายทอดตลาด-หรือยึดเงินฝากในบัญชีธนาคาร

 

2. แต่กรณีนี้แบ่งไปแล้ว บางคนใช้ไปแล้ว

แบงก์ต้องฟ้องผู้รับมรดกทั้ง 4 คน

เพราะเป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย

โดยต้องประเมินราคาสินทรัพย์ที่ได้รับและชำระคืนหนี้เท่า ๆ กัน

 

ยกเว้น !!! เงินประกันและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของลูกบุญธรรม

ตามกฎหมายไม่ถือเป็น "มรดก" นะจ๊ะ ผู้รับประโยชน์ยังได้เหมือนเดิม ฟ้องรวมไม่ได้

 

เท่ากับสิ่งที่แบงก์เรียกร้องได้คือ ที่ดินคนละ 10 ไร่ และ เงินสดคนละ 2 ล้านบาท

 

เอ๊ะ !!! แล้วบ้านน้อยได้เงินสดไป 20 ล้านบาท ไม่ต้องใช้หรอ ?

ไม่ต้องใช้อะไรทั้งสิ้นจ้า เพราะให้ก่อนเสียชีวิต ตามกฎหมายไม่ถือเป็น "มรดก"

สบายสุดละบ้านนี้ เชิ้บ เชิ้บ แย่งกันไปซี้พวกบ้านใหญ่ ...

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ กฎหมายระบุชัดเจนว่า...

หนี้ที่ติดมากับมรดก ผู้รับต้องใช้หนี้นะ

แต่ใช้แค่เท่ากับมูลค่าสินทรัพย์ของมรดกเท่านั้น

 

เช่นสมมติว่า ที่ดิน 40 ไร่ขายได้แค่ 10 ล้านบาท

มีเงินสดในธนาคาร 8 ล้านบาท

รวม 18 ล้านบาท

แบงก์ก็จะได้เงินแค่นี้นะ ไม่มีสิทธิฟ้องเอาเงินเพิ่มจากผู้รับมรดก

เพราะหนี้ของผู้ตาย คิดแค่สินทรัพย์ที่เป็นมรดกเท่านั้น

อาจจะมาขู่ จะฟ้องขอเพิ่ม ไม่ต้องกลัว ฟ้องมาเลย ชนะแน่นอน

 

เพราะกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ระบุชัดเลย

"หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก

เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น

หากมีหนี้มากกว่านั้นทายาทก็ไม่ต้องจ่าย"

 

แต่เคสของบ้านนี้บังเอิญที่ดินอยู่ทองหล่อ

ปรากฎว่าทุกคนพร้อมใจแบ่งขายคนละ 2 ไร่

รวมเป็น 10 ไร่ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เจ้าหนึ่ง

ได้มากกว่ายอดหนี้อีกเท่าตัว ใช้หนี้หมด ที่เหลือแบ่งกันได้อีก

จบว่ะ...ไม่กระเทือนเงินสดที่ได้มา 2 ล้านบาทเลยสักคน

 

เรื่องบ้านเพื่อนผมหมดแล้วนะ แต่ขอเพิ่มเติมเป็นความรู้นิดหนึ่ง

 

สมมติว่าพ่อดันไม่มีมรดกอะไรเลย แต่มีหนี้บัตรเครดิต 1 ล้านบาท

แบงก์จะฟ้องนะ เพราะเขามีสิทธิ แต่เราไม่ต้องกลัวเด้อ

เพราะพ่อไม่มีสินทรัพย์อะไรเหลือไว้ เท่ากับทายาทไม่ได้รับอะไรมา

ไม่ต้องจ่ายจ้า .....

 

อีกเรื่องคือ พ่อมีหนี้บัตรเครดิต 1 ล้านบาท

ให้รถเรามา 1 คันที่ตกทอดมา มูลค่า 3 แสนบาท

แบงก์ยึดรถได้นะ แต่ได้แค่นั้น มาฟ้องเอาส่วนต่าง 7 แสนไม่ได้นะ

อย่ามามั่ว...เพราะเราได้มาแค่นั้น สินทรัพย์ของทายาทไม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ของผู้ตายเด้อ

 

ยิ่งเป็นหนี้นอกระบบ เช่น พ่อไปยืมเพื่อนมา หรือ ยืมเฮียกวงดอกโหดมา หรือ หนี้พนัน

ตามกฎหมายเจ้าหนี้ฟ้องอะไรไม่ได้เลยนะครับ

แต่อาจจะมาขู่ ปล่อยขู่ไป อย่าไปให้ ไม่ใช่หน้าที่

ถ้าโหดมาแต่สู้ไม่ได้แจ้งความเลยครับ ไม่งั้นก็ฟ้องโซเชี่ยล เดี๋ยวก็จ๋อย

 

นอกจากนี้ กลับไปที่หนี้ในระบบ มันมีอายุความแค่ 1 ปีนะครับ

หากพ่อเป็นหนี้แบงก์แล้วหลังจากเสียชีวิต 1 ปี แบงก์ไม่มาทวง

ก็ไม่มีสิทธิทวงแล้วนะ เพราะถือว่าสิ้นอายุความแล้ว....

 

สรุปคือ มรดกที่มีหนี้ ตกทอดได้แค่เท่ากับมูลค่าของ มรดกเท่านั้น นะครับ

 

เอ้อ...สุดท้ายจริงละ ข้อนี้สำคัญ

อย่าบ้าจี้ขี้กลัวนะ ถ้าแบงก์มาขอประนอมหนี้ส่วนต่างที่มากกว่ามรดก

อย่าไปเซ็นยินยอมอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับการประนอมหนี้

เพราะจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย

บอกไปเลยว่า ไม่มีแล้ว จบแค่นี้ พอกันเถอะ พอกันที ไปละ ^^

 

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ