ไม่มีรายการ

4 เหตุผลที่มนุษย์เงินเดือน ไม่ควรมองข้าม “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

4 เหตุผลที่มนุษย์เงินเดือน ไม่ควรมองข้าม “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

27 สิงหาคม 2567


พนักงานเงินเดือนหลายคนอาจจะรู้สึกท้อ เมื่อเห็นเงินเดือนของตัวเองที่ทำงานมาทั้งเดือน ถูกหักแล้วยังหักอีก ทั้งหักค่าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท แล้วยังต้องมาถูกหักค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกต่อนึง เหลือเงินใช้ในแต่ละเดือนเพียงน้อยนิด

แต่ใจเย็นๆและฟังทางนี้ก่อน อยากจะบอกว่า เราควรจะภูมิใจและอุ่นใจได้ว่า อย่างน้อยเราก็มีเงินก้อนเป็นหลักประกัน เอาไว้ใช้ตอนลาออกจากงาน หรือตอนเกษียณ

เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เป็นการ ออมเงิน แบบอัตโนมัติรูปแบบหนึ่ง สำหรับพนักงานกินเงินเดือนอย่างเราๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีวินัยในการออม

บทความนี้จะทำให้คุณกระจ่างว่า ทำไมเราถึงต้องอัดเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบบเต็มปอดกันไปเลย ขอบอกว่างานนี้...ในฐานะลูกจ้าง มีแต่ได้กับได้! ขอแค่คุณจะต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

1.สร้างนิสัยการออมก่อนใช้

เก็บเงินไม่ได้ พยายามแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ การเข้าเป็นสมาชิกกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพช่วยเราได้แน่นอน เพราะการที่บริษัทหักเงินเราไปทุกๆ เดือน นำไปเข้ากองทุนฯ มันก็คือการที่เราลงทุนในลักษณะที่เรียกว่า dollar cost average หรือ DCA ดีๆ นั่นเอง! ซึ่งทางบริษัทเป็นธุระให้เราหมดเลย

เราก็เพียงแต่ตั้งใจทำงานไป สิ้นเดือนมาเงินถูกตัดไปออมให้อัตโนมัติ ส่วนที่เหลือก็ใช้ได้เต็มที่ไม่ต้องกังวลเรื่องออมแล้ว เพราะเราออมแบบขังลืมไปเลย ในระยะยาวเราจะมีเงินออมแบบงงๆ ยิ่งใครที่เงินรั่วนะ กองทุนฯ นี้แหละคือสุดยอดผู้ช่วยส่วนตัวที่คุณไม่ควรมองข้าม

2.มีมืออาชีพช่วยบริหารเงิน

เงินที่เรานำส่งเข้ากองทุน ที่บริษัทหักให้ทุกสิ้นเดือน และเงินที่บริษัทสมทบในกองทุนฯ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เอามากองไว้เฉยๆ แต่จะถูกนำไปลงทุนต่อสร้างดอกผลให้เราด้วย โดยจะมีมืออาชีพมาจัดการ นั่นคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนให้

ซึ่งแต่ละกองทุนก็จะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น ลงทุนในตราสารตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นในไทย และหุ้นในต่างประเทศ ส่วนเราก็มีหน้าที่เลือกว่าชอบแพ็คเกจไหน นโยบายการลงทุนของแต่ละบริษัทจัดการจะไม่เหมือนกัน เราสามารถสอบถามจากฝ่ายบุคคลที่บริษัทได้

3.ได้เงินสมทบจากนายจ้าง

หากใครไม่เข้าใจในข้อนี้ ถือว่าพลาดมาก! เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ "เหมือนได้เงินโบนัสเพิ่มทุกเดือน" ใครหลายคนมองข้ามเพียงเพราะ "อาจจะไม่เข้าใจมัน" โดยเฉพาะน้องๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ขอบอกเลยว่าถ้าบริษัทมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ "ห้ามพลาด ในการเป็นสมาชิก" เพราะนี่คือสวัสดิการที่นายจ้างให้เฉพาะลูกจ้างที่สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น (และไม่ใช่ว่านายจ้างทุกรายจะมีให้นะ ดังนั้น บริษัทไหนมีให้คือ ดีมาก)

เพื่อความชัดเจน อยากให้ลองนึกตามง่ายๆ ค่ะ สมมุติเราเงินเดือน 30,000 บาทและส่งเงินสะสม 5% = 1,500 บาท บริษัทสมทบให้อีกในอัตรา 3% (ของเงินเดือนเรา) = 900 บาท หมายความว่า ในเดือนนั้นเราได้เงินฟรีจากนายจ้าง 900 บาท ซึ่งคิดเป็น 60% ของเงินต้นเรา (1,500 บาท) คุณพระ! ลงทุนเองยังไม่ได้ขนาดนี้เลยนะ แล้วถ้าบริษัทสมทบเรา 5% ล่ะ? นั่นหมายความว่าเราจะได้เงินฟรี 1,500 บาท หรือคิดเป็น 100% ของเงินต้นเลยทีเดียว

นี่ยังไม่นับรวมเงินที่จะได้จากการนำเงินสะสมและเงินสมทบจำนวน 3,200 บาท (1500+900) ไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลต่อไปอีกนะ OMG! ออมกันเถอะ

4.ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 3 ต่อ คือ

1.สมาชิกนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้ : ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับ RMF SSF หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2.ผลตอบแทนจากเงินลงทุนของกองทุน ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ : ผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งหมดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะลงทุนในอะไร จะได้รับการยกเว้นภาษีซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ

3.สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน :

ไม่ว่าเราจะออกจากกองทุนด้วย การเกษียณ -ออกจากงาน -ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน เงินที่ได้รับจากกองทุนฯ (จะมี 4 ส่วนคือ 1.เงินสะสม 2.ผลประโยชน์เงินสะสม 3.เงินสมทบ 4.ผลประโยชน์เงินสมทบ) ในส่วนของเงินสะสม ไม่ต้องเสียภาษี แต่อีก 3 ส่วนที่เหลืออาจจะต้องเสีย ซึ่งจะมีเงื่อนไขด้านอายุงาน ,อายุสมาชิกกองทุนฯ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ