...ในวันที่เพื่อนสาวจะซื้อหุ้นตัวแรก
เพื่อนสาว : เทออออออ ชั้นลองเล่นพอร์ตจำลองแล้วไม่มันส์อะ มันปลอม มันไม่ใช่เงินจริง
น้องโน่ : แน่ใจ? พร้อมจะเสียเงินจริง
เพื่อนสาว : ตบปาก!! ดีออก พูดจาอัปมงคล
น้องโน่ : จ่ะ (พร้อมกับยิ้มอ่อน) จริงจังนะดีออก ตอนที่ชั้นเริ่มเล่นหุ้น มีพี่คนหนึ่งเคยบอกว่า เขาจะถามคนที่จะเริ่มเล่นหุ้นเสมอ ว่าพร้อมจะเสียเงินเท่าไหร่ กี่หมื่นหรือกี่แสน เพื่อเป็นค่าวิชา
เพื่อนสาว : ขนาดนั้นเลยเหรอแก
น้องโน่ : เปรียบเทียบนะ ถ้าลงทุนจะทำธุรกิจอะไรซักอย่าง เงินหลักพันพอมั้ย ก็ไม่พอใช่ปะ หลักหมื่นยังถือว่าน้อยด้วยซ้ำ แล้วมีซักกี่คนที่สำเร็จในการทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นครั้งแรก
เพื่อนสาว : มี
น้องโน่ : แต่น้อยมากกกกกกกกกกกก จริงมั้ย?
เพื่อนสาว : ก็จริง
น้องโน่ : ถ้าเปรียบการเล่นหุ้นเหมือนทำธุรกิจ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือการทำธุรกิจแหละ แถมง่ายกว่าด้วย เพราะการซื้อหุ้นคือเป็นเจ้าของ (แม้จะสัดส่วนเพียงน้อยนิดก็ตาม 55+) เพียงแต่เรายืมมือคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นจริง ๆ มาบริหารแทน ไม่ต้องตรวจสต็อค ไม่ต้องหาลูกค้า ไม่ต้องขายของเอง มีคนทำแทนเราหมดเลย หน้าที่เรามีเพียงแค่หาบริษัทหรือหุ้นที่ดีเท่านั้นเอง
เพื่อนสาว : แต่ก็ไม่ได้ง่ายใช่มะ
น้องโน่ : ใช่ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มต้น การหาหุ้นตัวแรกจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เพื่อนสาว : เย้ๆ งั้นเรามาหาหุ้นตัวแรกกันเถอะ (น่าถีบสุด 55+)
เงื่อนไขหาหุ้นตัวแรก
1. เป็นหุ้นที่เราเข้าใจดี
ช่วงเริ่มต้น แน่นอนว่าเรายังไม่มีความรู้เรื่องหุ้นมากนัก เราจึงควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เข้าใจได้ง่าย เพราะการเริ่มต้นด้วยสิ่งที่เราเข้าใจได้ดี จะทำให้เรามีกำลังใจที่ไปต่อกับสนามหุ้น เวลาเจออุปสรรคหรือขาดทุน ก็ยังพอที่จะหาทางแก้ไข และกลับมาสู้ต่อ ดังนั้น หุ้นตัวแรกจึงควรเริ่มจากสิ่งที่เรารู้จักดี อยู่ใกล้ตัว ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก และติดตามได้ง่าย
2. ธุรกิจเข้าใจง่าย
เป็นหุ้นที่อยู่ในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่เข้าใจง่าย แม้แต่คนที่ไม่ได้มีความรู้ด้านธุรกิจมากนัก ก็สามารถทำความเข้าใจได้ เช่น หุ้นค้าปลีก หุ้นธนาคาร หุ้นโรงพยาบาล หุ้นโรงแรม หุ้นร้านอาหาร เป็นต้น จะเห็นว่าหุ้นเหล่านี้ เราสามารถเห็นภาพได้ง่าย ว่ารายได้มาจากไหน มีต้นทุนอะไรบ้าง แนวโน้มกำไรจะดีหรือไม่ดีเพราะอะไร
เพื่อนสาว : แค่ 2 ข้อเองเหรอ
น้องโน่ : อย่างแค่ ดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายนะบอกเลย
เพื่อนสาว : จ้า
น้องโน่ : จาก 2 ข้อนี้ เธอคิดได้รึยังว่าเธอควรจะเริ่มจากหุ้นอะไรดี
เพื่อนสาว : เครื่องสำอาง ความสวยความงาม พอได้มั้ยอะ เพราะชั้นถนัดเรื่องพวกนี้ที่สุดแล้วละ
น้องโน่ : เยี่ยม!! แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่าธุรกิจที่เราถนัดและเข้าใจได้ง่ายที่สุดนั้น ยังอยู่ในเทรนด์รึเปล่า

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
น้องโน่ : ดีออก!!! ความงามนี่ติดเทรนด์อันดับหนึ่งปีหน้าเลยจ้า
เพื่อนสาว : จริงดิ
น้องโน่ : จริงซิ ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เพิ่งจะเปิดเผยผลวิจัย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจดาวร่วง ปี 64 โดยแถลงข่าวเมื่อ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมานี่เอง
เพื่อนสาว : กรี๊ดดดดดดดดด
น้องโน่ : พอๆ แต่มันก็ไม่ได้การันตีอะไร เพราะที่ผ่านมาก็มีหุ้นสวยสังหารอยู่ แต่ชั้นจะไม่พูดเยอะ เพราะเจ็บคอ 55+
เพื่อนสาว : ดีออก มาทำให้อยาก(รู้) แล้วจากไป
น้องโน่ : ต่อๆ แล้วหาหุ้นตัวแรกได้จากไหน รู้มั้ย?
เพื่อนสาว : ไม่รู้ ถ้ารู้จะถามเหรอ แหม่
ปัจจุบันมีหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 500 บริษัท จะให้ไปนั่งค้นหาข้อมูลหุ้นทุกบริษัทคงไม่ไหวแน่ ๆ ยิ่งสำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นด้วยแล้ว ยิ่งช้าเข้าไปใหญ่
แต่ก็มีเคล็ด (ไม่) ลับอยู่ว่าให้เลือกจากการจัดอันดับมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำดัชนีราคา SET50 หรือ SET100
SET50 คือ ดัชนีราคาหุ้นที่ใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง การซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ส่วน SET100 ก็ความหมายเดียวกัน ต่างกันที่ดัชนีคำนวณมาจากหุ้น 100 บริษัท นั่นคือ เราจะใช้หุ้นใน SET50 หรือ SET100 เป็นแนวทางประกอบการคัดเลือก จากนั้นให้ใช้วิธีเลือกหุ้นตามเงื่อนไข 2 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น เพราะอย่างน้อยที่สุดเราควรลงทุนในบริษัทที่เรารู้จัก
น้องโน่ : พอเข้าใจใช่มะ
เพื่อนสาว : เน้นหุ้นใหญ่ก่อน ชั้นเข้าใจถูกใช่มะ
น้องโน่ : ใช่จ้า
เพื่อนสาว : ทำไมถึงต้องเน้นหุ้นใหญ่ก่อนละ
น้องโน่ : บริษัทเล็กกับบริษัทใหญ่ ถ้าพูดโดยภาพรวมใครได้เปรียบในการทำธุรกิจมากกว่ากัน
เพื่อนสาว : บริษัทใหญ่ซิ
น้องโน่ : นั่นแหละคือเหตุผลหลักว่าทำไมมือใหม่ควรเริ่มต้นกับหุ้นใหญ่ก่อน เก่งแล้วค่อยขยับขยายไปหุ้นกลางหรือหุ้นเล็ก
เพื่อนสาว : จ้า ถ้าหุ้นตัวแรกได้แล้ว ซื้อเลยได้มั้ยอะ หรือต้องดูอะไรเพิ่มอีก
น้องโน่ : ซื้อได้เลย แต่!! ไม่ควรเทหมดหน้าตัก
เราควรเริ่มต้นด้วยจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก เช่น 5-10% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่เตรียมไว้ เพื่อเป็นการฝึกฝนก่อน โดยให้คิดอยู่เสมอว่า เป้าหมายของการลงทุนในหุ้นตัวแรกไม่ใช่เพื่อผลตอบแทนที่สูงที่สุด แต่เพื่อเป็นก้าวแรกในการลงทุนในสนามหุ้น
ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนจากหุ้นตัวแรกอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้และฝึกฝนจากการลงทุนจริงต่างหาก
ถ้าเราลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย เมื่อขาดทุนก็จะไม่มากนัก แต่สิ่งที่เราจะได้คือบทเรียนในการลงทุน ซึ่งจะทำให้เรามีความสามารถ และเข้าใจการลงทุนในหุ้นได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
น้องโน่ : เข้าใจใช่มะ
เพื่อนสาว : เข้าใจจ้า งั้นชั้นเริ่มได้เลยใช่มะ
น้องโน่ : เดี๋ยว ๆ ว่าแต่หล่อนเปิดบัญชีหุ้นแล้วเหรอ
เพื่อนสาว : เปิดรอไว้นานแล้วจ่ะ (ดีออก เร็วเว่อ 55+)
สรุป!!
• หุ้นตัวแรกควรเป็นหุ้นที่เราเข้าใจดี ธุรกิจเข้าใจง่าย (แต่ต้องอยู่ในเทรนด์)
• ควรเน้นหุ้นขนาดใหญ่ก่อน (SET50 หรือ SET100)
• เริ่มต้นด้วยจำนวนเงินไม่สูงมาก (5-10% ของที่เตรียมไว้)
• หุ้นตัวแรกคือการเรียนรู้ กำไรไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด