ไม่มีรายการ

หนี้พ่อแม่ เมื่อเสียชีวิต ลูกต้องใช้หนี้แทนหรือไม่

หนี้พ่อแม่ เมื่อเสียชีวิต ลูกต้องใช้หนี้แทนหรือไม่

27 พฤษภาคม 2565



ผมขุดประเด็นนี้ขึ้นมาแชร์อีกรอบ (เคยเล่าไว้เมื่อ 2-3ปีก่อน) เพราะล่าสุดพ่อผมเสียชีวิตไป ...

ประเด็นคือผ่านไปราว 3 เดือน มีจดหมายทวงหนี้มาที่บ้านครับ !!!

ยอดหนี้ล้านกว่าบาท...ครับท่าน 1,xx,xxx บาท ... แม่เจ้าแทบช็อค ...

โดยข้อความระบุว่า เรียน ..ชื่อผม.. ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาย ...ชื่อพ่อผม... ตามด้วยเนื้อหามูลหนี้ทั้งหมด พร้อมลงท้ายว่า ในฐานะทายาทโดยธรรมต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของ ....ชื่อพ่อผม.... ภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับหนังสือนี้

แต่คิดขึ้นมาได้ว่าเคยศึกษาเรื่องนี้และทำคอนเทนต์แชร์ไว้ เลยกลับไปอ่านอีกรอบ และเพื่อความชัวร์จึงปรึกษารุ่นพี่ที่เป็นทนาย สรุปว่า...รอด !!!

รอดได้อย่างไร มีคำตอบดังนี้ครับ...

 



"หนี้" ถือเป็น "มรดก" เพราะ "มรดก" หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมถึงสิทธิและหน้าที่ เช่น หน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และความรับผิดต่างๆ เช่น การผิดสัญญาและการละเมิด เป็นต้น ทั้งหมดนี้เราจะเรียกรวมกันว่าเป็น กองมรดกของผู้ตาย

ผู้มีสิทธิได้รับ "มรดก" คือ


1. ทายาทโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม


2. ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ประกอบด้วย ผู้สืบสันดานและคู่สมรส, บิดามารดา, พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน, พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน, ปู่ ย่า ตา ยาย และ ลุง ป้า น้า อา

"มรดก" จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลถึงแก่กรรม และมรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดถึงทายาททันที ทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิด โดยทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดที่เกิดขึ้นพร้อมกับหรือเนื่องจากความตายของเจ้ามรดก เช่น เงินที่ผู้รับผลประโยชน์ได้รับจากสัญญาประกันชีวิตของผู้ตาย ไม่ถือว่าเป็นกองมรดก หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ก็ไม่ถือว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย (ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของทายาท)

ดังนั้นเมื่อพ่อผมเสียชีวิตและไม่มีพินัยกรรม ผมในฐานะ ลูกหรือผู้สืบสันดาน มีสิทธิได้รับ "มรดก" โดยตรง

ซึ่ง "หนี้" ของพ่อ ถือเป็น "มรดก" ของผม เพราะเป็นหน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แม้ว่าเจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หน้าที่ในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้จะยังคงอยู่

ปัญหาคือ แล้วทายาทจะต้องชำระหนี้เท่าไหร่ ต้องชำระทั้งหมดเลยมั้ย แล้วถ้าเงินที่มีไม่พอจ่ายจะทำอย่างไร

ข้อความตามกฎหมายให้คำตอบไว้คือ ... กรณีที่เจ้ามรดกมีหนี้สินซึ่งสร้างภาระไว้ก่อนเสียชีวิตในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก หรือมีแต่หนี้สิน ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใดๆ ให้แก่ทายาทเลย ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ เช่น ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีมูลค่า 2 ล้านบาท แต่ผู้ตายมีหนี้สินอยู่ 3 ล้านบาท ดังนั้นทายาทจะต้องรับชดใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 1 ล้านบาทที่เหลือ ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น

หมายความว่า "หากผู้ตายมีแต่หนี้สิน และไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้น"

อิงตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ระบุชัดเลย "หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้นทายาทก็ไม่ต้องชำระ"

ใช่ครับ ผมไม่ได้รับ "มรดก" ใด ๆ ที่เป็นทรัพย์สินจากคุณพ่อทั้งสิ้น แม้แต่บ้านที่พ่ออยู่ เพราะพ่อนำไปจำนองไว้กับญาติก่อนเสียชีวิต และญาติได้ยึดที่บ้านนั้นไปแล้ว

ดังนั้นผมจึงรอดจากเหตุการณ์นี้ จึงอยากนำมาแชร์ให้ทราบโดยทั่วกัน เพราะอาจจะมีกรณีแบบนี้กับท่านได้ในอนาคต เพราะเวลาคนเราโดนหมายทวงหนี้ต่าง ๆ สิ่งแรกที่มักเกิดขึ้นคือตกใจและร้อนใจ

อย่าบ้าจี้ขี้กลัวนะ ถ้าแบงก์หรือเจ้าหนี้มาขอประนอมหนี้ส่วนต่างที่มากกว่ามรดก อย่าไปเซ็นยินยอมอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับการประนอมหนี้ เพราะจะกลายเป็นอีกเรื่องไปเลย

นอกจากนี้ "หนี้" ที่มาจาก "มรดก" มีอายุความแค่ 1 ปีนะครับ หากพ่อ-แม่เป็นหนี้ หลังจากเสียชีวิต 1 ปี เจ้าหนี้ยังไม่มาทวง ก็ไม่มีสิทธิทวงแล้วนะ เพราะถือว่าสิ้นอายุความแล้ว....

หนึ่งเอง หนึ่งไง จะใครล่ะ ^^

บทความแนะนำล่าสุด


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ